เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 5. อุปาสกวรรค 3. กิงทิฏฐิกสูตร
“คหบดี สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น ถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้น ก่อขึ้น อิงอาศัยปัจจัย
เกิดขึ้น สิ่งนั้นไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเท่านั้น ที่
ท่านเองติดแล้ว เข้าถึงแล้ว”
“ท่านผู้เจริญ สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น ถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้น ก่อขึ้น อิงอาศัย
ปัจจัยเกิดขึ้น สิ่งนั้นไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้น
ข้าพเจ้าได้เห็นดีแล้วด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา
เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ และรู้ชัดอุบายเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งสิ่งนั้น
อย่างยอดเยี่ยม ตามความเป็นจริง”
เมื่ออนาถบิณฑิกคหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว ปริพาชกเหล่านั้นพากันนั่งนิ่ง
เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา โต้ตอบไม่ได้ อนาถบิณฑิกคหบดีทราบว่าปริพาชก
เหล่านั้นพากันนั่งนิ่ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา โต้ตอบไม่ได้ จึงลุกจากที่นั่ง
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบ
ทูลเรื่องที่สนทนาปราศรัยกับอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นแด่พระผู้มีพระภาคให้
ทรงทราบทุกประการ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดีละ ดีละ อย่างนั้นแหละ คหบดี ท่านสามารถข่ม
โมฆบุรุษเหล่านั้นได้อย่างแนบเนียนตามกาลอันควร โดยชอบธรรม”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงชี้แจงให้อนาถบิณฑิกคหบดีเห็นชัด ชวนใจ
ให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง
ด้วยธรรมีกถาแล้ว อนาถบิณฑิกคหบดีก็ลุกจากที่นั่ง ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค
ทำประทักษิณแล้วหลีกไป
เมื่ออนาถบิณฑิกคหบดีหลีกไปไม่นาน พระผู้มีพระภาคจึงรับสั่งเรียกภิกษุทั้ง
หลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดบวชได้ 100 พรรษา ในธรรมวินัยนี้ แม้
ภิกษุนั้นก็พึงข่มพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกได้อย่างแนบเนียน โดยชอบธรรมอย่างนี้
เหมือนอนาถบิณฑิกคหบดีข่มได้แล้ว”
กิงทิฏฐิกสูตรที่ 3 จบ


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :219 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 5. อุปาสกวรรค 4. วัชชิยมาหิตสูตร
4. วัชชิยมาหิตสูตร
ว่าด้วยวัชชิยมาหิตคหบดี
[94] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ริมฝั่งสระคัคคราโบกขรณี
เขตกรุงจำปา ครั้งนั้น วัชชิยมาหิตคหบดีออกจากกรุงจำปาแต่ยังวัน เพื่อเฝ้า
พระผู้มีพระภาค ได้มีความคิดว่า “ยังไม่ใช่เวลาที่จะเฝ้าพระผู้มีพระภาค เพราะ
พระองค์ยังทรงหลีกเร้นอยู่ ยังไม่ใช่เวลาที่จะเยี่ยมเยือนภิกษุทั้งหลายผู้อบรมจิต
เพราะภิกษุเหล่านั้นยังหลีกเร้นอยู่ ทางที่ดี เราควรจะเข้าไปยังอารามของอัญเดียรถีย์
ปริพาชก”
ครั้งนั้นแล วัชชิยมาหิตคหบดีเข้าไปยังอารามของพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก
สมัยนั้นแล พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกกำลังร่วมประชุมกัน ส่งเสียงเอ็ดอึง นั่งสนทนา
กันถึงติรัจฉานกถา1มีประการต่าง ๆ ได้เห็นวัชชิยมาหิตคหบดีผู้กำลังเดินมาจากที่ไกล
จึงชวนกันให้หยุดว่า “จงเงียบเสียงเถิด ท่านทั้งหลายอย่าได้ส่งเสียงเลย วัชชิย-
มาหิตคหบดีคนนี้เป็นสาวกของพระสมณโคดมกำลังเดินมายังอาราม วัชชิยมาหิต-
คหบดีนี้ เป็นสาวกคนหนึ่งบรรดาคฤหัสถ์ผู้นุ่งห่มผ้าขาวของพระสมณโคดม ซึ่ง
อาศัยอยู่ในกรุงจำปา พวกเขาชอบเสียงเบา ถูกฝึกให้มีเสียงเบา กล่าวชมผู้พูดเสียง
เบา ทำอย่างไร เขาทราบว่าบริษัท2 เงียบเสียง ก็จะสำคัญว่าควรเข้าหา”
ครั้นแล้ว อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นจึงพากันนิ่งเงียบ ลำดับนั้น วัชชิยมาหิต-
คหบดีเข้าไปหาอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศัยพอเป็นที่
บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น
จึงถามว่า
“คหบดี นัยว่า พระสมณโคดมทรงติเตียนตบะทั้งหมด กล่าวโทษผู้มีตบะ
เลี้ยงชีพเศร้าหมอง3โดยส่วนเดียว จริงหรือ”

เชิงอรรถ :
1 ติรัจฉานกถา ดูเชิงอรรถที่ 1 ข้อ 69 (ปฐมกถาวัตถุสูตร) หน้า 150 ในเล่มนี้
2 ดูเชิงอรรถที่ 3 ข้อ 93 (กิงทิฏฐิกสูตร) หน้า 216 ในเล่มนี้
3 เลี้ยงชีพเศร้าหมอง ในที่นี้หมายถึงประกอบทุกกรกิริยา ดำรงชีวิตอย่างฝืดเคือง ทรมานตนให้ลำบาก
(องฺ.ทสก.อ. 3/94/367)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :220 }