เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 5. อุปาสกวรรค 3. กิงทิฏฐิกสูตร
3. กิงทิฏฐิกสูตร
ว่าด้วยคำถามเกี่ยวกับทิฏฐิ1
[93] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล ท่านอนาถบิณฑิกคหบดี ได้ออกจาก
กรุงสาวัตถีแต่ยังวัน เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค ขณะนั้นแล อนาถบิณฑิกคหบดีได้มี
ความคิดว่า “ยังไม่ใช่เวลาที่จะเฝ้าพระผู้มีพระภาค เพราะพระองค์ยังทรงหลีกเร้น2
อยู่ ยังไม่ใช่เวลาที่จะเยี่ยมเยือนภิกษุทั้งหลายผู้อบรมจิต เพราะภิกษุเหล่านั้น
ยังหลีกเร้นอยู่ ทางที่ดี เราควรจะเข้าไปยังอารามของอัญเดียรถีย์ปริพาชก”
ครั้งนั้นแล อนาถบิณฑิกคหบดีเข้าไปยังอารามของพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก
สมัยนั้นแล พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก กำลังร่วมประชุมกัน ส่งเสียงเอ็ดอึง นั่ง
สนทนากันถึงติรัจฉานกถามีประการต่าง ๆ ได้เห็นท่านอนาถบิณฑิกคหบดีผู้กำลัง เดิน
มาจากที่ไกล จึงชวนกันให้หยุดว่า “จงเงียบเสียงเถิด ท่านทั้งหลายอย่าได้ส่งเสียง
เลย อนาถบิณฑิกคหบดีคนนี้เป็นสาวกของพระสมณโคดมกำลังเดินมายังอาราม
อนาถบิณฑิกคหบดีนี้เป็นสาวกคนหนึ่งบรรดาคฤหัสถ์ผู้นุ่งห่มผ้าขาวของพระสมณ-
โคดม ซึ่งอาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถี พวกเขาชอบเสียงเบา ถูกฝึกให้มีเสียงเบา กล่าว
ชมผู้พูดเสียงเบา ทำอย่างไร เขาทราบว่าบริษัท3 เงียบเสียง ก็จะสำคัญว่าควรเข้าหา”
ครั้นแล้ว อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นจึงพากันนิ่งเงียบ ลำดับนั้น อนาถบิณฑิก-
คหบดีเข้าไปหาอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่
บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นจึง
ถามว่า “คหบดี ขอท่านจงบอกเถิด พระสมณโคดมมีทิฏฐิอย่างไร”

เชิงอรรถ :
1 ทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึงลัทธิ คือ คติความเชื่อถือหรือความคิดเห็น (องฺ.ติก.อ. 2/66/202)
2 ดูเชิงอรรถที่ 1 ข้อ 50 (ภัณฑนสูตร) หน้า 106 ในเล่มนี้
3 บริษัท คือ หมู่, คณะ, ที่ประชุม, ประชุมชน เช่น พุทธบริษัท 4 แต่ในที่นี้หมายถึงหมู่คณะของพวก
อัญเดียรถีย์ปริพาชก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :216 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 5. อุปาสกวรรค 3. กิงทิฏฐิกสูตร
อนาถบิณฑิกคหบดีตอบว่า “ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าไม่ทราบทิฏฐิทั้งหมดของ
พระผู้มีพระภาคเลย”
“เอาเถิดท่านคหบดี ตามที่ท่านว่า ท่านไม่ทราบทิฏฐิทั้งหมดของพระสมณ-
โคดม ขอท่านจงบอกเถิด พวกภิกษุมีทิฏฐิอย่างไร”
“ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าไม่ทราบทิฏฐิทั้งหมดของภิกษุทั้งหลายเลย”
“เอาเถิดท่านคหบดี ตามที่ท่านว่า ท่านไม่ทราบทิฏฐิทั้งหมดของพระสมณ-
โคดม ทั้งไม่ทราบทิฏฐิทั้งหมดของพวกภิกษุอย่างนี้ ท่านจงบอกเถิด ท่านมีทิฏฐิ
อย่างไร”
“ท่านผู้เจริญ ไม่ยากที่ข้าพเจ้าจะบอกทิฏฐิของข้าพเจ้าว่ามีทิฏฐิอย่างใด เชิญ
ท่านทั้งหลายบอกทิฏฐิของตนก่อนเถิด ไม่ยากที่ข้าพเจ้าจักบอกทิฏฐิของข้าพเจ้าว่า
มีทิฏฐิอย่างใดในภายหลัง”
เมื่ออนาถบิณฑิกคหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว ปริพาชกคนหนึ่งได้กล่าวกับอนาถ-
บิณฑิกคหบดีว่า “คหบดี เรามีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
ปริพาชกคนหนึ่งกล่าวกับอนาถบิณฑิกคหบดีว่า “คหบดี เรามีทิฏฐิอย่างนี้ว่า
‘โลกไม่เที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”
แม้ปริพาชกอีกคนหนึ่งก็กล่าวกับอนาถบิณฑิกคหบดีว่า “โลกมีที่สุด....” อีก
คนหนึ่งกล่าวว่า “โลกไม่มีที่สุด...” อีกคนหนึ่งกล่าวว่า “ชีวะ1กับสรีระเป็นอย่าง
เดียวกัน...” อีกคนหนึ่งกล่าวว่า “ชีวะกับสรีระเป็นคนละอย่างกัน....” อีกคนหนึ่งกล่าวว่า
“หลังจากตายแล้วตถาคต2เกิดอีก...” อีกคนหนึ่งกล่าวว่า “หลังจากตายแล้ว
ตถาคตไม่เกิดอีก...” อีกคนหนึ่งกล่าวว่า “หลังจากตายแล้วตถาคตเกิดอีกก็มี ไม่
เกิดอีกก็มี...” อีกคนหนึ่งกล่าวว่า “คหบดี เรามีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘หลังจากตายแล้ว
ตถาคตเกิดอีกก็ไม่ใช่ ไม่เกิดอีกก็ไม่ใช่ นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง”

เชิงอรรถ :
1 ชีวะ ในที่นี้หมายถึงวิญญาณอมตะหรืออาตมัน (ตามนัย อภิ.ปญฺจ.อ. 1/1/129)
2 ตถาคต ในที่นี้เป็นคำที่ลัทธิอื่นใช้มาก่อนพุทธกาล หมายถึงอัตตา (อาตมัน) ไม่ได้หมายถึงพระพุทธเจ้า
อรรถกถาอธิบายว่า หมายถึงสัตว์ (เทียบ ที.สี.อ. 65/108)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :217 }