เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 5. อุปาสกวรรค 3. กิงทิฏฐิกสูตร
3. กิงทิฏฐิกสูตร
ว่าด้วยคำถามเกี่ยวกับทิฏฐิ1
[93] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล ท่านอนาถบิณฑิกคหบดี ได้ออกจาก
กรุงสาวัตถีแต่ยังวัน เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค ขณะนั้นแล อนาถบิณฑิกคหบดีได้มี
ความคิดว่า “ยังไม่ใช่เวลาที่จะเฝ้าพระผู้มีพระภาค เพราะพระองค์ยังทรงหลีกเร้น2
อยู่ ยังไม่ใช่เวลาที่จะเยี่ยมเยือนภิกษุทั้งหลายผู้อบรมจิต เพราะภิกษุเหล่านั้น
ยังหลีกเร้นอยู่ ทางที่ดี เราควรจะเข้าไปยังอารามของอัญเดียรถีย์ปริพาชก”
ครั้งนั้นแล อนาถบิณฑิกคหบดีเข้าไปยังอารามของพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก
สมัยนั้นแล พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก กำลังร่วมประชุมกัน ส่งเสียงเอ็ดอึง นั่ง
สนทนากันถึงติรัจฉานกถามีประการต่าง ๆ ได้เห็นท่านอนาถบิณฑิกคหบดีผู้กำลัง เดิน
มาจากที่ไกล จึงชวนกันให้หยุดว่า “จงเงียบเสียงเถิด ท่านทั้งหลายอย่าได้ส่งเสียง
เลย อนาถบิณฑิกคหบดีคนนี้เป็นสาวกของพระสมณโคดมกำลังเดินมายังอาราม
อนาถบิณฑิกคหบดีนี้เป็นสาวกคนหนึ่งบรรดาคฤหัสถ์ผู้นุ่งห่มผ้าขาวของพระสมณ-
โคดม ซึ่งอาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถี พวกเขาชอบเสียงเบา ถูกฝึกให้มีเสียงเบา กล่าว
ชมผู้พูดเสียงเบา ทำอย่างไร เขาทราบว่าบริษัท3 เงียบเสียง ก็จะสำคัญว่าควรเข้าหา”
ครั้นแล้ว อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นจึงพากันนิ่งเงียบ ลำดับนั้น อนาถบิณฑิก-
คหบดีเข้าไปหาอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่
บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นจึง
ถามว่า “คหบดี ขอท่านจงบอกเถิด พระสมณโคดมมีทิฏฐิอย่างไร”

เชิงอรรถ :
1 ทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึงลัทธิ คือ คติความเชื่อถือหรือความคิดเห็น (องฺ.ติก.อ. 2/66/202)
2 ดูเชิงอรรถที่ 1 ข้อ 50 (ภัณฑนสูตร) หน้า 106 ในเล่มนี้
3 บริษัท คือ หมู่, คณะ, ที่ประชุม, ประชุมชน เช่น พุทธบริษัท 4 แต่ในที่นี้หมายถึงหมู่คณะของพวก
อัญเดียรถีย์ปริพาชก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :216 }