เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 5. อุปาสกวรรค 1. กามโภคีสูตร
กามโภคีบุคคลที่แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม ด้วยการงานที่ไม่ผิด ครั้น
แสวงหาได้แล้ว บำรุงตนให้เป็นสุข และแจกจ่าย ทำบุญ ทั้งเป็นผู้มัวเมา
หมกมุ่น จดจ่อ ไม่เห็นโทษ ไม่มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก ใช้สอยโภคทรัพย์เหล่า
นั้นนี้ ควรสรรเสริญโดย 3 สถาน ควรติเตียนโดยสถานเดียว คือ ควรสรรเสริญโดย
สถานที่ 1 นี้ว่า ‘แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม ด้วยการงานที่ไม่ผิด’ ควร
สรรเสริญโดยสถานที่ 2 นี้ว่า ‘บำรุงตนให้เป็นสุข’ ควรสรรเสริญโดยสถาน
ที่ 3 นี้ว่า ‘แจกจ่าย ทำบุญ’ ควรติเตียนโดยสถานเดียวนี้ว่า ‘เป็นผู้มัวเมา
หมกมุ่น จดจ่อ ไม่เห็นโทษ ไม่มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก ใช้สอยโภคทรัพย์
เหล่านั้น’ คหบดี กามโภคีบุคคลนี้ ควรสรรเสริญโดย 3 สถานนี้ ควรติเตียนโดย
สถานเดียวนี้ (9)
กามโภคีบุคคลที่แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม ด้วยการงานที่ไม่ผิด ครั้น
แสวงหาได้แล้ว บำรุงตนให้เป็นสุข และแจกจ่าย ทำบุญ ทั้งเป็นผู้ไม่มัวเมา
ไม่หมกมุ่น ไม่จดจ่อ เห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครี่องสลัดออก ใช้สอยโภคทรัพย์
เหล่านั้นนี้ ควรสรรเสริญโดย 4 สถาน คือ ควรสรรเสริญโดยสถานที่ 1 นี้ว่า
‘แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม ด้วยการงานที่ไม่ผิด’ ควรสรรเสริญโดย
สถานที่ 2 นี้ว่า ‘บำรุงตนให้เป็นสุข’ ควรสรรเสริญโดยสถานที่ 3 นี้ว่า
‘แจกจ่าย ทำบุญ’ ควรสรรเสริญโดยสถานที่ 4 นี้ว่า ‘ไม่มัวเมา ไม่หมกมุ่น
ไม่จดจ่อ เห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก ใช้สอยโภคทรัพย์เหล่านั้น’ คหบดี
กามโภคีบุคคลนี้ ควรสรรเสริญโดย 4 สถานนี้ (10)
คหบดี กามโภคีบุคคล 10 จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก
บรรดากามโภคีบุคคล 10 จำพวกนี้ กามโภคีบุคคลที่แสวงหาโภคทรัพย์โดย
ชอบธรรม ด้วยการงานที่ไม่ผิด ครั้นแสวงหาได้แล้ว บำรุงตนให้เป็นสุข และ
แจกจ่าย ทำบุญ ทั้งเป็นผู้ไม่มัวเมา ไม่หมกมุ่น ไม่จดจ่อ เห็นโทษ มีปัญญาเป็น
เครื่องสลัดออก ใช้สอยโภคทรัพย์เหล่านั้นนี้ เป็นผู้เลิศ ประเสริฐ เป็นหัวหน้า
สูงส่ง ล้ำเลิศ เปรียบเหมือนนมสดที่เกิดจากแม่โค นมส้มเกิดจากนมสด เนยข้นเกิด
จากนมส้ม เนยใสเกิดจากเนยข้น หัวเนยใสเกิดจากเนยใส ชาวโลกเรียกว่า เลิศกว่า
นมส้มเป็นต้น เหล่านั้น ฉันใด บรรดากามโภคีบุคคล 10 จำพวกนี้ กามโภคีบุคคลที่


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :211 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 5. อุปาสกวรรค 2. ภยสูตร
แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม ด้วยการงานที่ไม่ผิด ครั้นแสวงหาได้แล้ว บำรุง
ตนให้เป็นสุข และแจกจ่าย ทำบุญ ทั้งเป็นผู้ไม่มัวเมา ไม่หมกมุ่น ไม่จดจ่อ
เห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก ใช้สอยโภคทรัพย์เหล่านั้นนี้ เป็นผู้เลิศ
ประเสริฐ เป็นหัวหน้า สูงส่ง ล้ำเลิศ ฉันนั้นเหมือนกัน
กามโภคีสูตรที่ 1 จบ

2. ภยสูตร
ว่าด้วยภัยเวร
[92] ครั้งนั้นแล อนาถบิณฑิกคหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสกับอนาถบิณฑิกคหบดี
ดังนี้ว่า
คหบดี เมื่อใด อริยสาวกระงับภัยเวร 5 ประการได้แล้ว ประกอบด้วยองค์
เครื่องบรรลุโสดา1 4 ประการ และเห็นแจ้งแทงตลอดอริยญายธรรม2ด้วยปัญญาแล้ว
เมื่อนั้น อริยสาวกนั้น เมื่อหวังอยู่พึงพยากรณ์ตนเองว่า ‘เรามีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิด
สัตว์ดิรัจฉานสิ้นแล้ว มีภูมิแห่งเปรตสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ และวินิบาต3สิ้นแล้ว เป็น
โสดาบัน4 ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิ5 ในวันข้างหน้า’
อริยสาวกระงับภัยเวร 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. บุคคลผู้ฆ่าสัตว์ เพราะการฆ่าสัตว์เป็นปัจจัย จึงประสพภัยเวรที่เป็นไป
ในปัจจุบันบ้าง ในสัมปรายภพบ้าง เสวยทุกขโทมนัสทางใจบ้าง บุคคลผู้

เชิงอรรถ :
1 องค์เครื่องบรรลุโสดา ในที่นี้หมายถึงคุณสมบัติของพระโสดาบัน (สํ.ม.อ. 3/478/307)
2 อริยญายธรรม หมายถึงมรรคพร้อมทั้งวิปัสสนา (องฺ.ทสก.อ. 3/91-92/367)
3 อบาย ทุคติ วินิบาต ทั้ง 3 คำนี้เป็นไวพจน์ของนรก (องฺ.เอกก.อ. 1/43/50)
4 โสดาบัน หมายถึงผู้ประกอบด้วยอริยมรรคมีองค์ 8 เพราะคำว่า โสตะ เป็นชื่อของอริยมรรคมีองค์ 8
(อภิ.ปญฺจ.อ. 31/530)
5 สัมโพธิ ในที่นี้หมายถึงมรรค 3 เบื้องสูง (สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรค) (องฺ.ติก.อ.
2/87/242, องฺ.ติก.ฏีกา. 2/87/235)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :212 }