เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 2. นาถกรณวรรค 1. เสนาสนสูตร
3. เป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา ทำตนให้เปิดเผยตามความเป็นจริงใน
ศาสดาหรือในเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลาย
4. เป็นผู้ปรารภความเพียร1 เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศลธรรมเกิด
มีความเข้มแข็ง2 มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม
ทั้งหลายอยู่
5. เป็นผู้มีปัญญา คือประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาเห็นทั้งความ
เกิดและความดับอันเป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ 5 เป็นอย่างนี้แล
เสนาสนะประกอบด้วยองค์ 5 เป็นอย่างไร
คือ เสนาสนะในธรรมวินัยนี้
1. อยู่ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก3 มีทางไปมาสะดวก กลางวันไม่พลุกพล่าน
กลางคืนมีเสียงน้อย ไม่อึกทึก มีเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อย
คลานกระทบน้อย
2. เมื่อภิกษุอยู่ในเสนาสนะนั้น มีจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลาน-
ปัจจัยเภสัชชบริขารที่เกิดขึ้นโดยไม่ฝืดเคืองเลย
3. ภิกษุผู้เถระทั้งหลาย เป็นพหูสูต เรียนจบคัมภีร์4 ทรงธรรม ทรงวินัย
ทรงมาติกาอยู่ในเสนาสนะนั้น
4. ภิกษุนั้นเข้าไปหาภิกษุผู้เถระเหล่านั้น ในเวลาที่สมควรแล้ว จึงสอบถาม
ไต่ถามว่า “พุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร เนื้อความแห่งพุทธพจน์นี้เป็น
อย่างไร”

เชิงอรรถ :
1 ปรารภความเพียร ในที่นี้หมายถึงประคองความเพียรทางกายและใจไว้ (องฺ.ปญฺจก.อ. 3/2/1)
2 มีความเข้มแข็ง ในที่นี้หมายถึงมีกำลังความเพียร (องฺ.ปญฺจก.อ. 3/2/1)
3 เสนาสนะที่อยู่ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก มีอธิบายประกอบว่า เสนาสนะที่อยู่ไกลนัก เมื่อภิกษุอยู่อาศัย
ย่อมลำบากกายที่จะเที่ยวบิณฑบาต จิตใจกระสับกระส่าย ไม่สามารถเจริญสมาธิให้เกิดได้ เสนาสนะที่
อยู่ใกล้นัก ก็จะพลุกพล่านไปด้วยผู้คน (องฺ.ทสก.อ. 3/11/320)
4 เรียนจบคัมภีร์(อาคตาคม) ในที่นี้หมายถึงเรียนจบพระพุทธพจน์ คือพระไตรปิฎก 5 นิกาย ได้แก่
ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย และขุททกนิกาย (องฺ.ติก.อ. 2/20/98)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :18 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 2. นาถกรณวรรค 2. ปัญจังคสูตร
5. ภิกษุผู้เถระเหล่านั้น ย่อมเปิดเผยข้อที่ยังไม่เปิดเผย ทำข้อที่เข้าใจยาก
ให้เข้าใจง่าย และบรรเทาความสงสัยในธรรมที่น่าสงสัยหลายอย่างแก่
ภิกษุนั้น
เสนาสนะประกอบด้วยองค์ 5 เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ 5 อาศัยใช้สอยเสนาสนะอันประกอบ
ด้วยองค์ 5 ไม่นานนัก ก็จะทำให้แจ้ง ฯลฯ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง
เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
เสนาสนสูตรที่ 1 จบ

2. ปัญจังคสูตร
ว่าด้วยองค์ 5
[12] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ละองค์ 5 ประกอบด้วยองค์ 5 บัณฑิตเรียกว่า
ผู้ประกอบด้วยคุณทั้งมวล ผู้อยู่จบพรหมจรรย์1 เป็นอุดมบุรุษในธรรมวินัยนี้
ภิกษุผู้ละองค์ 5 เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
1. เป็นผู้ละกามฉันทะ(ความพอใจในกาม)
2. เป็นผู้ละพยาบาท(ความคิดร้าย)
3. เป็นผู้ละถีนมิทธะ(ความหดหู่และเซื่องซึม)
4. เป็นผู้ละอุทธัจจกุกกุจจะ(ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ)
5. เป็นผู้ละวิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย)
ภิกษุเป็นผู้ละองค์ 5 เป็นอย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
1 อยู่จบพรหมจรรย์ หมายถึงกิจแห่งการปฏิบัติเพื่อทำลายอาสวกิเลสจบสิ้นสมบูรณ์แล้ว ไม่มีกิจที่จะ
ต้องทำเพื่อตนเอง แต่ยังมีหน้าที่เพื่อผู้อื่นอยู่ ผู้บรรลุถึงขั้นนี้ได้ ชื่อว่าอเสขบุคคล (ที.สี.อ. 248/203)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :19 }