เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 2. นาถกรณวรรค 1. เสนาสนสูตร
2. นาถกรณวรรค
หมวดว่าด้วยนาถกรณธรรม1
1. เสนาสนสูตร
ว่าด้วยองค์ประกอบของเสนาสนะ
[11] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ 5
อาศัยใช้สอยเสนาสนะอันประกอบด้วยองค์ 5 ไม่นานนักก็จะทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ
ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ใน
ปัจจุบัน
ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ 5 เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
1. เป็นผู้มีศรัทธา เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า “แม้เพราะเหตุนี้
พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดย
ชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึก
ผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นพระพุทธเจ้า2 เป็นพระผู้มีพระภาค3”
2. เป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง ประกอบด้วยไฟธาตุสำหรับย่อยอาหาร
สม่ำเสมอ ไม่เย็นจัด ไม่ร้อนจัด เป็นปานกลาง ควรแก่การบำเพ็ญเพียร

เชิงอรรถ :
1 ดูปฐมนาถสูตร หน้า 31 และทุติยนาถสูตร หน้า 34 ในเล่มนี้
2 ชื่อว่า พระพุทธเจ้า เพราะทรงรู้สิ่งที่ควรรู้ทั้งหมดด้วยพระองค์เอง และทรงสอนให้ผู้อื่นรู้ตาม
3 ชื่อว่า พระผู้มีพระภาค เพราะ (1) ทรงมีโชค (2) ทรงทำลายข้าศึกคือกิเลส (3) ทรงประกอบด้วยภคธรรม
6 ประการ (คือ ความเป็นใหญ่เหนือจิตของตน โลกุตตรธรรม ยศ สิริ ความสำเร็จประโยชน์ตามต้องการ
และความเพียร) (4) ทรงจำแนกแจกแจงธรรม (5) ทรงเสพอริยธรรม (6) ทรงคลายตัณหาในภพทั้ง 3
(7) ทรงเป็นที่เคารพของชาวโลก (8) ทรงอบรมพระองค์ดีแล้ว (9) ทรงมีส่วนแห่งปัจจัย 4 เป็นต้น
(ตามนัย วิ. อ. 1/1/103-118)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :17 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 2. นาถกรณวรรค 1. เสนาสนสูตร
3. เป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา ทำตนให้เปิดเผยตามความเป็นจริงใน
ศาสดาหรือในเพื่อนพรหมจารีผู้รู้ทั้งหลาย
4. เป็นผู้ปรารภความเพียร1 เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศลธรรมเกิด
มีความเข้มแข็ง2 มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม
ทั้งหลายอยู่
5. เป็นผู้มีปัญญา คือประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาเห็นทั้งความ
เกิดและความดับอันเป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ 5 เป็นอย่างนี้แล
เสนาสนะประกอบด้วยองค์ 5 เป็นอย่างไร
คือ เสนาสนะในธรรมวินัยนี้
1. อยู่ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก3 มีทางไปมาสะดวก กลางวันไม่พลุกพล่าน
กลางคืนมีเสียงน้อย ไม่อึกทึก มีเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อย
คลานกระทบน้อย
2. เมื่อภิกษุอยู่ในเสนาสนะนั้น มีจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลาน-
ปัจจัยเภสัชชบริขารที่เกิดขึ้นโดยไม่ฝืดเคืองเลย
3. ภิกษุผู้เถระทั้งหลาย เป็นพหูสูต เรียนจบคัมภีร์4 ทรงธรรม ทรงวินัย
ทรงมาติกาอยู่ในเสนาสนะนั้น
4. ภิกษุนั้นเข้าไปหาภิกษุผู้เถระเหล่านั้น ในเวลาที่สมควรแล้ว จึงสอบถาม
ไต่ถามว่า “พุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร เนื้อความแห่งพุทธพจน์นี้เป็น
อย่างไร”

เชิงอรรถ :
1 ปรารภความเพียร ในที่นี้หมายถึงประคองความเพียรทางกายและใจไว้ (องฺ.ปญฺจก.อ. 3/2/1)
2 มีความเข้มแข็ง ในที่นี้หมายถึงมีกำลังความเพียร (องฺ.ปญฺจก.อ. 3/2/1)
3 เสนาสนะที่อยู่ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก มีอธิบายประกอบว่า เสนาสนะที่อยู่ไกลนัก เมื่อภิกษุอยู่อาศัย
ย่อมลำบากกายที่จะเที่ยวบิณฑบาต จิตใจกระสับกระส่าย ไม่สามารถเจริญสมาธิให้เกิดได้ เสนาสนะที่
อยู่ใกล้นัก ก็จะพลุกพล่านไปด้วยผู้คน (องฺ.ทสก.อ. 3/11/320)
4 เรียนจบคัมภีร์(อาคตาคม) ในที่นี้หมายถึงเรียนจบพระพุทธพจน์ คือพระไตรปิฎก 5 นิกาย ได้แก่
ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย และขุททกนิกาย (องฺ.ติก.อ. 2/20/98)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :18 }