เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 1. สจิตตวรรค 10. คิริมานันทสูตร
โรคลงแดง1 โรคจุกเสียด โรคลงราก โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ โรคลม
บ้าหมู โรคหิดเปื่อย โรคหิดด้าน โรคคุดทะราด โรคหูด โรคละอองบวม โรค
อาเจียนเป็นเลือด โรคดี โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวง อาพาธมีดี
เป็นสมุฏฐาน อาพาธมีเสลดเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีลมเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีไข้
สันนิบาตเป็นสมุฏฐาน อาพาธที่เกิดแต่ฤดูแปรปรวน อาพาธที่เกิดแต่การบริหารที่
ไม่สม่ำเสมอ อาพาธที่เกิดแต่ความเพียรเกินกำลัง อาพาธที่เกิดแต่วิบากของกรรม
ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ’
เป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความเป็นโทษในกายนี้อยู่อย่างนี้ นี้เรียกว่า อาทีนวสัญญา
ปหานสัญญา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไม่รับกามวิตกที่เกิดขึ้น ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ทำให้
ถึงความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป ไม่รับพยาบาทวิตกที่เกิดขึ้น ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด
ทำให้ถึงความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป ไม่รับวิหิงสาวิตกที่เกิดขึ้น ละ บรรเทา ทำให้
สิ้นสุด ทำให้ถึงความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป ไม่รับบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
เกิดขึ้นอีก ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ทำให้ถึงความเกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป นี้เรียกว่า
ปหานสัญญา
วิราคสัญญา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี พิจารณา
เห็นว่า ‘ภาวะที่สงบ ประณีต คือความระงับสังขารทั้งปวง ความสละคืนซึ่งอุปธิ
ทั้งปวง ความสิ้นไปแห่งตัณหา ความคลายกำหนัด นิพพาน’ นี้เรียกว่า วิราคสัญญา
นิโรธสัญญา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี พิจารณา
เห็นว่า ‘ภาวะที่สงบ ประณีต คือความระงับสังขารทั้งปวง ความสละคืนซึ่งอุปธิ
ทั้งปวง ความสิ้นไปแห่งตัณหา ความดับ นิพพาน’ นี้เรียกว่า นิโรธสัญญา
สัพพโลเก อนภิรตสัญญา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ละอุปาทานในโลกที่เป็นเหตุตั้งมั่น ยึดมั่น และเป็น
อนุสัยแห่งจิต งดเว้น ไม่ถือมั่น นี้เรียกว่า สัพพโลเก อนภิรตสัญญา

เชิงอรรถ :
1 โรคลงแดง หมายถึงโรคที่ถ่ายอุจจาระท้องเดินเป็นเลือด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :130 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 1. สจิตตวรรค 10. คิริมานันทสูตร
สัพพสังขาเรสุ อนิจจสัญญา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมอึดอัด ระอา รังเกียจในสังขารทั้งปวง นี้เรียกว่า
สัพพสังขาเรสุ อนิจจสัญญา
อานาปานสติ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้
บัลลังก์1 ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า2 มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก3

อานาปานสติ 16 ขั้น4
1. เมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว
2. เมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่าหายใจเข้าสั้น
เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น
3. สำเหนียกว่า จะรู้ชัดกองลมทั้งปวง หายใจเข้า
สำเหนียกว่า จะรู้ชัดกองลมทั้งปวง หายใจออก
4. สำเหนียกว่า จะระงับกายสังขาร หายใจเข้า
สำเหนียกว่า จะระงับกายสังขาร หายใจออก
5. สำเหนียกว่า จะรู้ชัดปีติ หายใจเข้า
สำเหนียกว่า จะรู้ชัดปีติ หายใจออก

เชิงอรรถ :
1 นั่งคู้บัลลังก์ หมายถึงนั่งพับขาเข้าหากันทั้ง 2 ข้าง เรียกว่านั่งขัดสมาธิ (วิ.อ. 1/165/445)
2 ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า หมายถึงตั้งสติกำหนดอารมณ์กัมมัฏฐาน (วิ.อ. 1/165/445)
3 ตามอรรถกถาพระสูตรนี้ อัสสาสะ หมายถึง หายใจเข้า ปัสสาสะ หมายถึงหายใจออก (อสฺสาโสติ อนฺโต-
ปวิสนนาสิกวาโต. ปสฺสาโสติ พหินิกฺขมนนาสิกวาโต. ม.ม.อ.2/305/136) ส่วนตามอรรถกถาวินัยกลับกัน
คือ อัสสาสะ หมายถึงหายใจออก ปัสสาสะ หมายถึงหายใจเข้า (อสฺสาโสติ พหินิกฺขมนวาโต ปสฺสาโสติ
อนฺโตปวิสนวาโต. วิ.อ. 1/165/446)
4 ดู ม.ม. 13/141/95-6, ม.อุ. 14/147/130-131, สํ.ม. 19/977/269

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :131 }