เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 1. สจิตตวรรค 10. คิริมานันทสูตร
อนัตตสัญญา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี พิจารณา
เห็นว่า ตาเป็นอนัตตา รูปเป็นอนัตตา หูเป็นอนัตตา เสียงเป็นอนัตตา จมูกเป็น
อนัตตา กลิ่นเป็นอนัตตา ลิ้นเป็นอนัตตา รสเป็นอนัตตา กายเป็นอนัตตา โผฏฐัพพะ
เป็นอนัตตา ใจเป็นอนัตตา ธรรมารมณ์เป็นอนัตตา เป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความ
เป็นอนัตตาในอายตนะทั้งหลายที่เป็นภายในและภายนอก 6 ประการนี้อยู่อย่างนี้
นี้เรียกว่า อนัตตสัญญา
อสุภสัญญา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาเห็นกายนี้เท่านั้น ตั้งแต่พื้นเท้าขึ้นไป ตั้งแต่
ปลายผมลงมา มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่าง ๆ ว่า
‘ในกายนี้มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต1 หัวใจ ตับ
พังผืด ม้าม2 ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด
เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร’ เป็นผู้พิจารณาเห็นโดย
ความเป็นของไม่งามในกายนี้อยู่อย่างนี้ นี้เรียกว่า อสุภสัญญา
อาทีนวสัญญา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี พิจารณา
เห็นว่า ‘กายนี้มีทุกข์มาก มีโทษมาก เพราะฉะนั้น อาพาธต่าง ๆ จึงเกิดขึ้นในกายนี้
คือ โรคตา โรคหู โรคจมูก โรคลิ้น โรคกาย โรคศีรษะ โรคที่ใบหู โรคปาก โรคฟัน
โรคไอ โรคหืด โรคไข้หวัด โรคไข้พิษ โรคไข้เชื่อมซึม โรคท้อง โรคลมสลบ

เชิงอรรถ :
1 ไต แปลจากคำว่า “วกฺก” (โบราณแปลว่า ม้าม) ได้แก่ ก้อนเนื้อ 2 ก้อน มีขั้วเดียวกัน รูปร่างคล้ายลูก
สะบ้าของเด็ก ๆ หรือคล้ายผลมะม่วง 2 ผลที่ติดอยู่ในขั้วเดียวกัน มีเอ็นใหญ่รึงรัดจากลำคอลงไปถึงหัวใจ
แล้วแยกออกห้อยอยู่ทั้ง 2 ข้าง (ขุ.ขุ.อ. 3/43) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 ให้บท
นิยามของคำว่า “ไต” ว่า “อวัยวะคู่หนึ่งของคนและสัตว์อยู่ในช่องท้องใกล้กระดูกสันหลัง ทำหน้าที่ขับของ
เสียออกมากับน้ำปัสสาวะ Buddhadatta Mahathera, A. Concise Pali-English Dictionary, 1985, (224);
และ Rhys Davids, T.W. Pali-English Dictionary, 1921-1925,(591) ให้ความหมายคำว่า “วกฺก”
ตรงกับคำว่า “ไต” (Kidney)
2 ม้าม แปลจากคำว่า “ปิหก” ตาม (ขุ.ขุ.อ. 3/45) (โบราณแปลว่า ไต); พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน
พ.ศ.2525 ให้บทนิยามไว้ว่า “อวัยวะภายในร่างกาย ริมกระเพาะอาหารข้างซ้าย มีหน้าที่ทำลายเม็ด
เลือดแดงสร้างเม็ดเลือดเหลืองและสร้างภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :129 }