เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 1. สจิตตวรรค 7. ทุติยสัญญาสูตร
7. ทุติยสัญญาสูตร
ว่าด้วยสัญญา สูตรที่ 2
[57] ภิกษุทั้งหลาย สัญญา 10 ประการนี้ ที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว
ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด
สัญญา 10 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. อนิจจสัญญา (กำหนดหมายความไม่เที่ยงแห่งสังขาร)
2. อนัตตสัญญา (กำหนดหมายความเป็นอนัตตาแห่งธรรมทั้งปวง)
3. มรณสัญญา (กำหนดหมายความตายที่จะต้องมาถึงเป็นธรรมดา)
4. อาหาเร ปฏิกูลสัญญา (กำหนดหมายความปฏิกูลในอาหาร)
5. สัพพโลเก อนภิรตสัญญา(กำหนดหมายความไม่น่าเพลิดเพลินในโลก
ทั้งปวง)
6. อัฏฐิกสัญญา (กำหนดหมายซากศพที่ยังเหลืออยู่แต่ร่างกระดูกหรือ
กระดูกท่อน)
7. ปุฬุวกสัญญา (กำหนดหมายซากศพที่มีหนอนคลาคล่ำเต็มไปหมด)
8. วินีลกสัญญา (กำหนดหมายซากศพที่มีสีเขียวคล้ำคละด้วยสีต่าง ๆ)
9. วิจฉิททกสัญญา (กำหนดหมายซากศพที่ขาดจากกันเป็น 2 ท่อน)
10. อุทธุมาตกสัญญา (กำหนดหมายซากศพที่เน่าพองขึ้นอืด)
ภิกษุทั้งหลาย สัญญา 10 ประการนี้แล ที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมมี
ผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด
ทุติยสัญญาสูตรที่ 7 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :124 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 1. สจิตตวรรค 8. มูลกสูตร
8. มูลกสูตร
ว่าด้วยมูลเหตุแห่งธรรมทั้งหลาย
[58] ภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกถามอย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุ
ทั้งหลาย ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นมูล ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นต้นกำเนิด ธรรมทั้งปวง
มีอะไรเป็นเหตุเกิด ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นที่ชุมนุม ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นประมุข
ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นใหญ่ ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นยอดยิ่ง ธรรมทั้งปวงมีอะไร
เป็นแก่น ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นที่หยั่งลง ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นที่สุด’ ภิกษุ
ทั้งหลาย เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว จะตอบพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น
อย่างไร
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์
ทั้งหลายมีพระผู้มีพระภาคเป็นหลัก มีพระผู้มีพระภาคเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระภาค
เป็นที่พึ่ง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส เฉพาะพระผู้มีพระภาคเท่านั้น
ที่จะทรงอธิบายเนื้อความแห่งพระภาษิตนั้นให้แจ่มแจ้งได้ ภิกษุทั้งหลายฟังต่อจาก
พระผู้มีพระภาคแล้วจักทรงจำไว้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจ
ให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้
ตรัสเรื่องนี้ว่า
ภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกถามอย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุทั้งหลาย
1. ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นมูล
2. ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นต้นกำเนิด
3. ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นเหตุเกิด
4. ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นที่ชุมนุม
5. ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นประมุข
6. ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นใหญ่
7. ธรรมทั้งปวงมีอะไรเป็นยอดยิ่ง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :125 }