เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 1. สจิตตวรรค 5. ปริหานสูตร
หรือบุรุษที่ยังหนุ่มสาวมีปกติชอบแต่งตัว ส่องดูเงาหน้าของตนในกระจกเงาอันบริสุทธิ์
ผุดผ่อง หรือในภาชนะน้ำที่ใส ถ้าเห็นธุลีหรือจุดดำที่หน้านั้น ก็พยายามขจัดธุลี
หรือจุดดำนั้นเสีย หากไม่เห็นธุลีหรือจุดดำที่หน้านั้น ก็ดีใจ ภูมิใจ ด้วยเหตุนั้นเอง
ว่า ‘เป็นลาภของเราหนอ หน้าของเราบริสุทธิ์แล้วหนอ’
ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ ไม่พิจารณาเห็นกุศลธรรมเหล่านี้แม้ทั้งหมดในตน ภิกษุ
นั้นก็ควรทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น
ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่งเพื่อได้กุศลธรรมเหล่านี้ทั้งหมด
ภิกษุนั้นก็ควรทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น
ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่งเพื่อได้กุศลธรรมทั้งหลายเหล่านี้
เปรียบเหมือนบุคคลผู้มีผ้าที่ถูกไฟไหม้หรือมีศีรษะที่ถูกไฟไหม้ ควรทำความพอใจ
ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะ
ให้มีประมาณยิ่งเพื่อดับไฟที่ไหม้ผ้าหรือไฟที่ไหม้ศีรษะนั้น
ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ พิจารณาเห็นกุศลธรรมบางเหล่าว่ามีในตน พิจารณาเห็น
กุศลธรรมบางเหล่าว่าไม่มีในตน ภิกษุนั้นก็ควรตั้งมั่นอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลายที่
พิจารณาเห็นว่ามีในตนแล้ว ทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความ
ขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่งเพื่อได้กุศลธรรม
ที่พิจารณาเห็นว่าไม่มีในตนเหล่านั้น
ภิกษุนั้นควรตั้งมั่นอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลายที่พิจารณาเห็นในตนแล้ว ทำความ
พอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและ
สัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่งเพื่อได้กุศลธรรมทั้งหลายที่พิจารณาเห็นว่าไม่มีในตน
เปรียบเหมือนบุคคลผู้มีผ้าที่ถูกไฟไหม้หรือมีศีรษะที่ถูกไฟไหม้ ทำความพอใจ
ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและ
สัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่งเพื่อดับไฟที่ไหม้ผ้าหรือไฟที่ไหม้ศีรษะนั้น
ผู้มีอายุทั้งหลาย ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ พิจารณาเห็นกุศลธรรมเหล่านี้แม้
ทั้งหมดว่ามีในตน ภิกษุนั้นก็ควรตั้งมั่นอยู่ในกุศลธรรมเหล่านั้นทั้งหมดเลยแล้วทำ
ความเพียรเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายให้ยิ่งขึ้นไป
ปริหานสูตรที่ 5 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :122 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 1. สจิตตวรรค 6. ปฐมสัญญาสูตร
6. ปฐมสัญญาสูตร1
ว่าด้วยสัญญา สูตรที่ 1
[56] ภิกษุทั้งหลาย สัญญา 10 ประการนี้ ที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว
ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ2 มีอมตะเป็นที่สุด
สัญญา 10 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. อสุภสัญญา (กำหนดหมายความไม่งามแห่งกาย)
2. มรณสัญญา (กำหนดหมายความตายที่จะต้องมาถึงเป็นธรรมดา)
3. อาหาเร ปฏิกูลสัญญา (กำหนดหมายความปฏิกูลในอาหาร)
4. สัพพโลเก อนภิรตสัญญา (กำหนดหมายความไม่น่าเพลิดเพลินในโลก
ทั้งปวง)
5. อนิจจสัญญา (กำหนดหมายความไม่เที่ยงแห่งสังขาร)
6. อนิจเจ ทุกขสัญญา (กำหนดหมายความเป็นทุกข์ในความไม่เที่ยงแห่ง
สังขาร)
7. ทุกเข อนัตตสัญญา (กำหนดหมายความเป็นอนัตตาในความเป็นทุกข์)
8. ปหานสัญญา (กำหนดหมายเพื่อละอกุศลวิตกและบาปธรรมทั้งหลาย)
9. วิราคสัญญา (กำหนดหมายวิราคะว่าเป็นธรรมละเอียดประณีต)
10. นิโรธสัญญา (กำหนดหมายนิโรธว่าเป็นธรรมละเอียดประณีต)
ภิกษุทั้งหลาย สัญญา 10 ประการนี้แล ที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมมี
ผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด
ปฐมสัญญาสูตรที่ 6 จบ

เชิงอรรถ :
1 ดู องฺ.สตฺตก. 23/48-49/40-41
2 อมตะ ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (องฺ.สตฺตก.อ. 3/48-49/184)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :123 }