เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 1. อานิสังสวรรค 8. ฌานสูตร
ท่านพระอานนท์ถามว่า “ในสมัยนั้น ท่านสารีบุตรเป็นผู้มีสัญญาอย่างไร”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ผู้มีอายุ สัญญาอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแก่ผมว่า ‘ความ
ดับภพเป็นนิพพาน ความดับภพเป็นนิพพาน’ สัญญาอย่างหนึ่งดับไป ผู้มีอายุ
สัญญาอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแก่ผมว่า ‘ความดับภพเป็นนิพพาน ความดับภพเป็น
นิพพาน’ สัญญาอย่างหนึ่งดับไป เปรียบเหมือนเมื่อไฟมีเชื้อกำลังไหม้อยู่ เปลวไฟ
อย่างหนึ่งเกิดขึ้น เปลวไฟอย่างหนึ่งดับไปฉะนั้น ผู้มีอายุ ในสมัยนั้น ผมได้มีสัญญา
ว่า ‘ความดับภพเป็นนิพพาน’
สารีปุตตสูตรที่ 7 จบ

8. ฌานสูตร
ว่าด้วยภิกษุผู้มีฌาน
[8] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา แต่ไม่มีศีล
อย่างนี้ เธอชื่อว่าเป็นผู้ไม่บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น เธอพึงบำเพ็ญองค์นั้นให้บริบูรณ์ด้วย
คิดว่า “ทางที่ดี เราควรเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล” เมื่อใด ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล เมื่อนั้น
เธอจึงชื่อว่าเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยองค์นั้นอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธาและมีศีล แต่ไม่เป็นพหูสูต ฯลฯ เป็น
พหูสูตแต่ไม่เป็นธรรมกถึก1 เป็นธรรมกถึกแต่ไม่เข้าไปสู่บริษัท เข้าไปสู่บริษัทแต่ไม่
แกล้วกล้าแสดงธรรมแก่บริษัท แกล้วกล้าแสดงธรรมแก่บริษัทแต่ไม่ทรงวินัย ทรง
วินัยแต่ไม่อยู่ป่าเป็นวัตร และไม่อยู่ในเสนาสนะอันสงัด อยู่ป่าเป็นวัตร และอยู่ใน

เชิงอรรถ :
1 ธรรมกถึก หมายถึงผู้กล่าวสอนธรรม ผู้แสดงธรรม หรือนักเทศน์ซี่งจะต้องมีองค์ธรรม 5 ประการ คือ
(1) แสดงธรรมไปโดยลำดับ (2) แสดงอ้างเหตุผล (3) แสดงธรรมอาศัยความเอ็นดู (4) ไม่เพ่งอามิส
แสดงธรรม (5) แสดงธรรมไม่กระทบตนและผู้อื่น (องฺ.ปญฺจก. 22/159/174)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :12 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [1. ปฐมปัณณาสก์] 1. อานิสังสวรรค 8. ฌานสูตร
เสนาสนะอันสงัดแต่ไม่ได้ฌาน 4 อันมีในจิตยิ่ง1 ซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
ตามความปรารถนา ได้โดยยาก ได้โดยลำบาก ได้ฌาน 4 อันมีในจิตยิ่ง ซึ่งเป็น
เครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก แต่
ไม่ได้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ2 ปัญญาวิมุตติ3อันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วย
ปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน อย่างนี้ เธอชื่อว่าเป็นผู้ไม่บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น
เธอพึงบำเพ็ญองค์นั้นให้บริบูรณ์ด้วยคิดว่า “ทางที่ดี เราควรเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล
เป็นพหูสูต เป็นธรรมกถึก เข้าไปสู่บริษัท แกล้วกล้าแสดงธรรมแก่บริษัท ทรงวินัย
อยู่ป่าเป็นวัตร และอยู่ในเสนาสนะอันสงัด ได้ฌาน 4 อันมีในจิตยิ่งซึ่งเป็นเครื่อง
อยู่เป็นสุขในปัจจุบันตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก และทำให้
แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง
เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน”
เมื่อใด ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา 1 มีศีล 1 เป็นพหูสูต 1 เป็นธรรมกถึก 1 เข้าไป
สู่บริษัท 1 แกล้วกล้าแสดงธรรมแก่บริษัท 1 ทรงวินัย 1 อยู่ป่าเป็นวัตร และอยู่ใน
เสนาสนะอันสงัด 1 ได้ฌาน 4 อันมีในจิตยิ่งซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันตาม
ความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก 1 ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญา-
วิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน 1
เมื่อนั้น เธอจึงชื่อว่าเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น อย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม 10 ประการนี้แล จึงชื่อว่าเป็นผู้ก่อ
ให้เกิดความเลื่อมใสได้รอบด้าน4 และเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง
ฌานสูตรที่ 8 จบ

เชิงอรรถ :
1 มีในจิตยิ่ง (อภิเจตสิก) ในที่นี้หมายถึงอุปจารสมาธิ (ม.มู.อ. 1/66/173)
2 เจโตวิมุตติ หมายถึงความหลุดพ้นจากกิเลสด้วยอำนาจการฝึกจิต ซึ่งเป็นผลแห่งสมาธิ (องฺ.ทุก.อ.
2/88/62)
3 ปัญญาวิมุตติ หมายถึงความหลุดพ้นจากกิเลสด้วยการกำจัดอวิชชาได้ ซึ่งเป็นผลแห่งปัญญา (องฺ.ทุก.อ.
2/88/62)
4 ก่อให้เกิดความเลื่อมใสได้รอบด้าน หมายถึงมีกายกรรม วจีกรรมที่น่าเลื่อมใส (องฺ.ทสก.อ. 3/8/319)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :13 }