เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 1. สจิตตวรรค 4. สมถสูตร
4. สมถสูตร
ว่าด้วยความสงบแห่งจิต
[54] ภิกษุทั้งหลาย หากภิกษุไม่ฉลาดในวาระจิตของผู้อื่น เมื่อเป็นเช่นนั้น
ภิกษุพึงสำเหนียกว่า ‘เราจักเป็นผู้ฉลาดในวาระจิตของตน’ ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้ง
หลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล
ภิกษุฉลาดในวาระจิตของตน เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุมีการพิจารณาที่เป็นอุปการะมากในกุศลธรรมทั้งหลายว่า ‘เราได้
ความสงบแห่งจิตภายในหรือไม่ได้หนอ เราได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง
หรือไม่ได้หนอ’ เปรียบเหมือนสตรีหรือบุรุษที่ยังหนุ่มสาว มีปกติชอบแต่งตัว ส่องดู
เงาหน้าของตนในกระจกเงาอันบริสุทธิ์ผุดผ่อง หรือในภาชนะน้ำที่ใส ถ้าเห็นธุลีหรือ
จุดดำที่หน้านั้น ก็พยายามขจัดธุลีหรือจุดดำนั้นเสีย หากไม่เห็นธุลีหรือจุดดำนั้น
ก็ดีใจ ภูมิใจ ด้วยเหตุนั้นเองว่า ‘เป็นลาภของเรา หน้าของเราบริสุทธิ์แล้วหนอ’
ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า ‘เราได้ความสงบแห่งจิตภายใน แต่ไม่ได้
ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง’ ภิกษุนั้นควรตั้งมั่นในความสงบแห่งจิตภายใน
แล้วทำความเพียรเพื่อความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่งเถิด สมัยต่อมา ภิกษุนั้น
ได้ทั้งความสงบแห่งจิตภายใน และความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง
ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า ‘เราได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง
แต่ไม่ได้ความสงบแห่งจิตภายใน’ ภิกษุนั้นควรตั้งมั่นอยู่ในความเห็นแจ้งธรรมด้วย
ปัญญาอันยิ่งแล้วทำความเพียรเพื่อความสงบแห่งจิตภายในเถิด สมัยต่อมา ภิกษุ
นั้นได้ทั้งความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง และความสงบจิตภายใน
ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า ‘เราไม่ได้ความสงบแห่งจิตภายใน และความ
เห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง’ ภิกษุนั้นควรทำความพอใจ ความพยายาม ความ
อุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่ง
เพื่อได้กุศลธรรมเหล่านั้นเถิด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :116 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต [2. ทุติยปัณณาสก์] 1. สจิตตวรรค 4. สมถสูตร
ภิกษุนั้นพึงทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น
ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่งเพื่อได้กุศลธรรมเหล่านั้น เปรียบ
เหมือนบุคคลผู้มีผ้าที่ถูกไฟไหม้ หรือมีศีรษะที่ถูกไฟไหม้ ทำความพอใจ ความ
พยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะ
ให้มีประมาณยิ่งเพื่อดับไฟที่ไหม้ผ้าหรือไฟที่ไหม้ศีรษะนั้น สมัยต่อมา ภิกษุนั้น ได้ทั้ง
ความสงบแห่งจิตภายใน และความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง
ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้อย่างนี้ว่า ‘เราได้ความสงบแห่งจิตภายใน ได้ความเห็น
แจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง’ ภิกษุนั้นควรตั้งมั่นอยู่ในกุศลธรรมเหล่านั้นแล้ว ทำ
ความเพียร เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายให้ยิ่งขึ้นไป
แม้จีวรเราก็กล่าวว่ามี 2 อย่าง คือจีวรที่ควรใช้สอยและจีวรที่ไม่ควรใช้สอย
แม้บิณฑบาตเราก็กล่าวว่ามี 2 อย่าง คือบิณฑบาตที่ควรฉัน และบิณฑบาตที่ไม่
ควรฉัน แม้เสนาสนะเราก็กล่าวว่ามี 2 อย่าง คือเสนาสนะที่ควรอยู่อาศัย และ
เสนาสนะที่ไม่ควรอยู่อาศัย แม้บ้านและนิคมเราก็กล่าวว่ามี 2 อย่าง คือบ้านและ
นิคมที่ควรอยู่อาศัย และบ้านและนิคมที่ไม่ควรอยู่อาศัย แม้ชนบทและประเทศเรา
ก็กล่าวว่ามี 2 อย่าง คือชนบทและประเทศที่ควรอยู่อาศัย และชนบทและประเทศที่
ไม่ควรอยู่อาศัย แม้บุคคลเราก็กล่าวว่ามี 2 ประเภท คือบุคคลที่ควรคบ และบุคคล
ที่ไม่ควรคบ

จีวรที่ควรใช้สอย และที่ไม่ควรใช้สอย
เรากล่าวไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ‘แม้จีวรเราก็กล่าวว่ามี 2 อย่าง คือจีวรที่ควรใช้สอย
และจีวรที่ไม่ควรใช้สอย’ เพราะอาศัยอะไร เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
บรรดาจีวร 2 อย่างนั้น จีวรใดภิกษุรู้ว่า ‘เมื่อเราใช้สอยจีวรนี้แล อกุศลธรรม
ทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น กุศลธรรมทั้งหลายเสื่อมไป’ จีวรนี้ไม่ควรใช้สอย จีวรใดภิกษุ
รู้ว่า ‘เมื่อเราใช้สอยจีวรนี้แล อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญยิ่งขึ้น’ จีวรนี้ควร
ใช้สอย เพราะอาศัยคำที่เรากล่าวไว้ว่า ‘แม้จีวรเราก็กล่าวว่า มี 2 อย่าง คือจีวรที่
ควรใช้สอย และจีวรที่ไม่ควรใช้สอย’ เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 24 หน้า :117 }