เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 6.อัพยากตวรรค 1.อัพยากตสูตร
ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับย่อมรู้ชัดทิฏฐิ รู้ชัดเหตุเกิดทิฏฐิ รู้ชัด
ความดับทิฏฐิ รู้ชัดข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทิฏฐิ ทิฏฐิของอริยสาวก
นั้นย่อมดับไป เขาย่อมหลุดพ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ
ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เรากล่าวว่า ย่อมหลุดพ้นจากทุกข์
อริยสาวกผู้ได้สดับ รู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ ย่อมไม่พยากรณ์ว่า
‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก’ ไม่พยากรณ์ว่า ‘หลังจากตายแล้ว
ตถาคตไม่เกิดอีก’ ไม่พยากรณ์ว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก
และไม่เกิดอีก’ ไม่พยากรณ์ว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตจะว่า
เกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่’
อริยสาวกผู้ได้สดับ รู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ เป็นผู้ไม่พยากรณ์
ในเรื่องที่ไม่ควรพยากรณ์เป็นธรรมดาอย่างนี้ อริยสาวกผู้ได้สดับ
รู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ ย่อมไม่หวาดหวั่น ไม่หวั่นไหว ไม่สะทก-
สะท้าน ไม่สะดุ้ง ในเรื่องที่ไม่ควรพยากรณ์ คือ
2. ตัณหานี้ว่า1 ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก‘ฯลฯ
3. สัญญานี้ว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก’ ฯลฯ
4. ความเข้าใจนี้ว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก’ ฯลฯ
5. ความปรุงแต่งนี้ว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก‘ฯลฯ
6. อุปาทานนี้ว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก’ ฯลฯ
7. วิปปฏิสาร (ความเดือดร้อนใจ)นี้ว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิด
อีก’ วิปปฏิสารนี้ว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตไม่เกิดอีก’ วิปปฏิสาร
นี้ว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีกและไม่เกิดอีก’ วิปปฏิสาร
นี้ว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีก
ก็มิใช่’
ปุถุชนผู้มิได้สดับย่อมไม่รู้ชัดวิปปฏิสาร ไม่รู้ชัดเหตุเกิดวิปปฏิสาร
ไม่รู้ชัดความดับวิปปฏิสาร ไม่รู้ชัดข้อปฏิบัติให้ถึงความดับวิปปฏิสาร
วิปปฏิสารนั้นย่อมเจริญแก่เขา เขาย่อมไม่หลุดพ้นจากชาติ ชรา มรณะ
โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เรากล่าวว่า ไม่หลุดพ้น
จากทุกข์

เชิงอรรถ :
1 คำว่า ‘ตัณหา สัญญา ความเข้าใจ ความปรุงแต่ง อุปาทาน วิปปฏิสาร‘ทั้ง 6 คำนี้ เกิดขึ้นเพราะอาศัยทิฏฐิ
(มิจฉาทิฏฐิ) (องฺ.สตฺตก.อ. 3/54/189)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :98 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 6.อัพยากตวรรค 2.ปุริสคติสูตร
ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับย่อมรู้ชัดวิปปฏิสาร รู้ชัดเหตุเกิด
วิปปฏิสาร รู้ชัดความดับวิปปฏิสาร รู้ชัดข้อปฏิบัติให้ถึงความดับ
วิปปฏิสาร วิปปฏิสารของอริยสาวกนั้นย่อมดับไป เขาย่อมหลุดพ้น
จากชาติ ฯลฯ เรากล่าวว่า ย่อมหลุดพ้นจากทุกข์ อริยสาวกผู้
ได้สดับ รู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ ย่อมไม่พยากรณ์ว่า ‘หลังจากตายแล้ว
ตถาคตเกิดอีก ฯลฯ ไม่พยากรณ์ว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคต
เกิดอีกก็มิใช่ ไม่เกิดอีกก็มิใช่’
อริยสาวกผู้ได้สดับ รู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ เป็นผู้ไม่พยากรณ์
ในเรื่องที่ไม่ควรพยากรณ์เป็นธรรมดาอย่างนี้ อริยสาวกผู้ได้สดับ
รู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ ย่อมไม่หวาดหวั่น ไม่หวั่นไหว ไม่สะทกสะท้าน
ไม่สะดุ้ง ในเรื่องที่ไม่ควรพยากรณ์
ภิกษุ นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้อริยสาวกผู้ได้สดับไม่เกิดความลังเลสงสัยในเรื่อง
ที่ไม่ควรพยากรณ์
อัพยากตสูตรที่ 1 จบ

2. ปุริสคติสูตร
ว่าด้วยคติของบุรุษ
[55] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงคติ1ของบุรุษ 7 ประการ และอนุปาทา-
ปรินิพพาน เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับ
สนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
คติของบุรุษ 7 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ปฏิบัติด้วยคิดอย่างนี้ว่า “ถ้ากรรม2ไม่มีแล้ว
อัตภาพของเราก็ไม่พึงมี ถ้ากรรม3จักไม่มี อัตภาพของเราก็จักไม่มี

เชิงอรรถ :
1 คติ ในที่นี้หมายถึงญาณคติ (องฺ.สตฺตก.อ. 3/55/190)
2 กรรม ในที่นี้หมายถึงกรรมที่ทำให้เกิดในอัตภาพอดีตชาติ (องฺ.สตฺตก.อ. 3/55/190)
3 กรรม ในที่นี้หมายถึงกรรมที่ทำให้เกิดในอัตภาพต่อไป (องฺ.สตฺตก.อ. 3/55/190)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :99 }