เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 6.อัพยากตวรรค 1.อัพยากตสูตร
6. อัพยากตวรรค
หมวดว่าด้วยเรื่องที่ไม่พยากรณ์
1. อัพยากตสูตร
ว่าด้วยเรื่องที่ไม่พยากรณ์
[54] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระอริยสาวกผู้ได้สดับ
ไม่เกิดความลังเลสงสัยในเรื่องที่ไม่ควรพยากรณ์”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ภิกษุ เพราะทิฏฐิ1ดับไป อริยสาวกผู้ได้สดับจึงไม่
เกิดความลังเลสงสัยในเรื่องที่ไม่ควรพยากรณ์ คือ
1. ทิฏฐินี้ว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคต2เกิดอีก’ ทิฏฐินี้ว่า ‘หลังจาก
ตายแล้ว ตถาคตไม่เกิดอีก’ ทิฏฐินี้ว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคต
เกิดอีกและไม่เกิดอีก’ ทิฏฐินี้ว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตจะว่า
เกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่’
ปุถุชนผู้มิได้สดับย่อมไม่รู้ชัดทิฏฐิ3 ไม่รู้ชัดเหตุเกิดทิฏฐิ ไม่รู้ชัด
ความดับทิฏฐิ ไม่รู้ชัดข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทิฏฐิ ทิฏฐินั้นย่อม
เจริญแก่เขา เขาย่อมไม่หลุดพ้นจากชาติ(ความเกิด) ชรา(ความแก่)
มรณะ(ความตาย) โสกะ(ความเศร้าโศก) ปริเทวะ (ความคร่ำครวญ)
ทุกข์(ความทุกข์กาย) โทมนัส (ความทุกข์ใจ) และอุปายาส (ความ
คับแค้นใจ) เรากล่าวว่า ไม่หลุดพ้นจากทุกข์

เชิงอรรถ :
1 ทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึงมิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิด) (องฺ.สตฺตก.อ. 3/54/189)
2 ตถาคต ในที่นี้เป็นคำที่ลัทธิอื่นๆ ใช้มาก่อนพุทธกาล หมายถึงอัตตา (อาตมัน) ไม่ได้หมายถึงพระพุทธเจ้า
อรรถกถาอธิบายว่า หมายถึงสัตว์ (เทียบ ที.สี.อ. 1/65/108, องฺ.สตฺตก.อ. 3/54/189)
3 ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึงโสดาปัตติมรรค (องฺ.สตฺตก.อ. 3/54/190)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :97 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 6.อัพยากตวรรค 1.อัพยากตสูตร
ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับย่อมรู้ชัดทิฏฐิ รู้ชัดเหตุเกิดทิฏฐิ รู้ชัด
ความดับทิฏฐิ รู้ชัดข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทิฏฐิ ทิฏฐิของอริยสาวก
นั้นย่อมดับไป เขาย่อมหลุดพ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ
ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เรากล่าวว่า ย่อมหลุดพ้นจากทุกข์
อริยสาวกผู้ได้สดับ รู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ ย่อมไม่พยากรณ์ว่า
‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก’ ไม่พยากรณ์ว่า ‘หลังจากตายแล้ว
ตถาคตไม่เกิดอีก’ ไม่พยากรณ์ว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก
และไม่เกิดอีก’ ไม่พยากรณ์ว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตจะว่า
เกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีกก็มิใช่’
อริยสาวกผู้ได้สดับ รู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ เป็นผู้ไม่พยากรณ์
ในเรื่องที่ไม่ควรพยากรณ์เป็นธรรมดาอย่างนี้ อริยสาวกผู้ได้สดับ
รู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ ย่อมไม่หวาดหวั่น ไม่หวั่นไหว ไม่สะทก-
สะท้าน ไม่สะดุ้ง ในเรื่องที่ไม่ควรพยากรณ์ คือ
2. ตัณหานี้ว่า1 ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก‘ฯลฯ
3. สัญญานี้ว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก’ ฯลฯ
4. ความเข้าใจนี้ว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก’ ฯลฯ
5. ความปรุงแต่งนี้ว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก‘ฯลฯ
6. อุปาทานนี้ว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีก’ ฯลฯ
7. วิปปฏิสาร (ความเดือดร้อนใจ)นี้ว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิด
อีก’ วิปปฏิสารนี้ว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตไม่เกิดอีก’ วิปปฏิสาร
นี้ว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีกและไม่เกิดอีก’ วิปปฏิสาร
นี้ว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตจะว่าเกิดอีกก็มิใช่ จะว่าไม่เกิดอีก
ก็มิใช่’
ปุถุชนผู้มิได้สดับย่อมไม่รู้ชัดวิปปฏิสาร ไม่รู้ชัดเหตุเกิดวิปปฏิสาร
ไม่รู้ชัดความดับวิปปฏิสาร ไม่รู้ชัดข้อปฏิบัติให้ถึงความดับวิปปฏิสาร
วิปปฏิสารนั้นย่อมเจริญแก่เขา เขาย่อมไม่หลุดพ้นจากชาติ ชรา มรณะ
โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เรากล่าวว่า ไม่หลุดพ้น
จากทุกข์

เชิงอรรถ :
1 คำว่า ‘ตัณหา สัญญา ความเข้าใจ ความปรุงแต่ง อุปาทาน วิปปฏิสาร‘ทั้ง 6 คำนี้ เกิดขึ้นเพราะอาศัยทิฏฐิ
(มิจฉาทิฏฐิ) (องฺ.สตฺตก.อ. 3/54/189)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :98 }