เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 5.มหายัญญวรรค 7.เมถุนสูตร
แต่ถ้าภิกษุมีใจที่อบรมแล้วด้วยทุกเข อนัตตสัญญาอยู่โดยมาก มีใจปราศจาก
อหังการ มมังการ และมานะ ในร่างกายที่มีวิญญาณนี้ และในนิมิตภายนอกทั้งปวง
ก้าวล่วงมานะ สงบแล้ว หลุดพ้นดีแล้ว ภิกษุพึงทราบข้อนี้ว่า ‘ทุกเข อนัตตสัญญา
เราเจริญดีแล้ว คุณวิเศษทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายจึงมีแก่เรา ภาวนาพละของเรา
ถึงที่แล้ว’ เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นจึงเป็นผู้รู้ชัดในทุกเข อนัตตสัญญานั้น
เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้นว่า ‘ทุกเข อนัตตสัญญาที่ภิกษุเจริญ ทำให้มากแล้ว
ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด’ (7)
ภิกษุทั้งหลาย สัญญา 7 ประการนี้แล ที่ภิกษุเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมมี
ผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด
ทุติยสัญญาสูตรที่ 6 จบ

7. เมถุนสูตร
ว่าด้วยเมถุนสังโยค
[50] ครั้งนั้นแล ชาณุสโสณิพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ท่านพระโคดมยังปฏิญญาว่าตนเป็นพรหมจารีอยู่หรือ”1
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “พราหมณ์ บุคคลเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้อง
พึงกล่าวถึงผู้ใดผู้หนึ่งว่า ‘เขาประพฤติพรหมจรรย์ ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย

เชิงอรรถ :
1 สาเหตุที่พราหมณ์ทูลถามเช่นนี้ เพราะคิดว่า ‘พราหมณ์ เมื่อจะเรียนเวทยังต้องประพฤติพรหมจรรย์ใช้
ระยะเวลาถึง 48 ปีเลย แต่พระสมณโคดมเคยอยู่ครองเรือน อภิรมย์ในปราสาท 3 หลัง ท่ามกลางเหล่า
นางฟ้อนนางรำ แล้วไฉนบัดนี้จึงมาพูดว่าตนประพฤติพรหมจรรย์’ ทั้งนี้เพราะยึดติดรูปแบบกฎเกณฑ์
และเวลาการประพฤติพรหมจรรย์ตามลัทธิอื่น ดู ข้อ 42-43 หน้า 62-66 ในเล่มนี้ประกอบ(องฺ.สตฺตก.
อ. 3/50/184-185)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :82 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 5.มหายัญญวรรค 7.เมถุนสูตร
บริสุทธิ์ บริบูรณ์’ บุคคลนั้นเมื่อจะกล่าวให้ถูกต้อง พึงกล่าวถึงเรานั้นแล เพราะเรา
ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย บริสุทธิ์ บริบูรณ์”1
พราหมณ์ทูลถามว่า “ ท่านพระโคดม อะไรเล่าชื่อว่าเป็นความขาด ความทะลุ
ความด่าง ความพร้อยแห่งพรหมจรรย์”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
1. สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ปฏิญญาว่าเป็นพรหมจารีอย่าง
ถูกต้อง ไม่ประพฤติกิจสองต่อสอง2 กับมาตุคาม แต่ยังยินดีการ
ลูบไล้ การขัดถู การให้อาบน้ำ และการนวดฟั้นของมาตุคาม
เขาชอบใจ ติดใจ และถึงความปลื้มใจกับการทำเช่นนั้น แม้นี้ก็ชื่อว่า
เป็นความขาด ความทะลุ ความด่าง และความพร้อยแห่งพรหมจรรย์
พราหมณ์ ผู้นี้เราเรียกว่าประพฤติพรหมจรรย์ไม่บริสุทธิ์ ประกอบด้วย
เมถุนสังโยค ย่อมไม่หลุดพ้นจากชาติ(ความเกิด) ชรา(ความแก่)
มรณะ (ความตาย) โสกะ(ความเศร้าโศก) ปริเทวะ(ความคร่ำครวญ)
ทุกข์(ความทุกข์กาย) โทมนัส (ความทุกข์ใจ) และอุปายาส (ความ
คับแค้นใจ) เรากล่าวว่า ไม่หลุดพ้นจากทุกข์
2. สมณะหรือพราหมณ์บางคนในโลกนี้ ปฏิญญาว่าเป็นพรหมจารีอย่าง
ถูกต้อง ไม่ประพฤติกิจสองต่อสองกับมาตุคาม ทั้งไม่ยินดีการลูบไล้
การขัดถู การให้อาบน้ำ และการนวดฟั้นของมาตุคาม แต่ยัง
สัพยอก3 เล่นหัว4 หัวเราะร่ากับมาตุคาม ฯลฯ

เชิงอรรถ :
1 การที่พระผู้มีพระภาคตรัสตอบอย่างนี้มีนัยให้รู้ว่า ‘ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่พระองค์บำเพ็ญเพียรในขณะที่
ยังมีกิเลสอยู่นั้น แม้เพียงแต่ความคิดคำนึงถึงความสุขในราชสมบัติ หรือความพรั่งพร้อมด้วยนางฟ้อนใน
ปราสาทนั้น มิได้เกิดขึ้นแก่พระองค์เลยแม้แต่น้อย’ ซึ่งเป็นพระดำรัสตอบที่สามารถสยบพราหมณ์ได้ ดุจ
การใช้มนตร์จับงูเห่า และดุจการใช้เท้าเหยียบที่คอหอยศัตรู ฉะนั้น (องฺ.สตฺตก.อ. 3/50/185)
2 กิจสองต่อสอง ในที่นี้หมายถึงกิจที่คนสองคนซึ่งมีความรักใคร่กำหนัดหมกมุ่นเหมือนกันทำร่วมกัน เป็น
ชื่อของเมถุนธรรมที่เป็นประเวณีของชาวบ้าน มารยาทของคนชั้นต่ำ กิริยาชั่วหยาบมีน้ำเป็นที่สุด เป็นกิจ
ที่ต้องทำในที่ลับ (วิ.อ. 1/39/231, 55/275, องฺ.สตฺตก.อ. 3/50/185, องฺ.สตฺตก.ฏีกา 3/50-51/211)
และดู วิ.มหา. (แปล) 1/39/28, 55/42
3 สัพยอก ในที่นี้หมายถึงพูดเรื่องน่าหัวเราะ (องฺ.สตฺตก.อ. 3/50/185)
4 เล่นหัว ในที่นี้หมายถึงการพูดล้อเล่น (องฺ.สตฺตก.อ. 3/50/185)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :83 }