เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 1.ธนวรรค 4.วิตถตพลสูตร
สติพละ เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีสติ คือ ประกอบด้วยสติปัญญาเป็นเครื่อง
รักษาตน1อย่างยิ่ง ระลึกถึงสิ่งที่ทำและคำที่พูดแม้นานได้ นี้เรียกว่า สติพละ
สมาธิพละ เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม ฯลฯ2 บรรลุจตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์
ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ นี้เรียกว่า สมาธิพละ
ปัญญาพละ เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญาเป็น
เครื่องพิจารณาเห็นทั้งความเกิดและความดับอันเป็นอริยะ3 ชำแรกกิเลสให้ถึงความ
สิ้นทุกข์โดยชอบ นี้เรียกว่า ปัญญาพละ
ภิกษุทั้งหลาย พละ 7 ประการนี้แล
ภิกษุผู้เป็นบัณฑิตมีพละ 7 ประการนี้ คือ
สัทธาพละ วิริยพละ หิริพละ โอตตัปปพละ
สติพละ สมาธิพละ และปัญญาพละ
ย่อมอยู่อย่างเป็นสุข

เชิงอรรถ :
1 สติปัญญาเป็นเครื่องรักษาตน (เนปกฺก) เป็นชื่อของปัญญาที่เป็นอุปการะแก่สติ (องฺ.ปญฺจก.อ. 3/14/4)
2 ดูความเต็มในสัตตกนิบาต ข้อ 53 (นันทมาตาสูตร) หน้า 95 ในเล่มนี้
3 ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาเห็นทั้งความเกิดและความดับอันเป็นอริยะ แยกอธิบายดังนี้ คือ
ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาเห็น ในที่นี้หมายถึงวิปัสสนาปัญญา และมัคคปัญญา
ความเกิดและความดับ ในที่นี้หมายถึงความเกิดและความดับแห่งเบญจขันธ์ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา
สังขาร และวิญญาณ
อันเป็นอริยะ ในที่นี้หมายถึงบริสุทธิ์อยู่ห่างไกลจากกิเลสทั้งหลายด้วยวิกขัมภนปหานะ (การละด้วยการ
ข่มไว้) และด้วยสมุจเฉทปหานะ (การละด้วยการตัดขาด) (องฺ.ปญฺจก.อ.3/2/2)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :7 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 1.ธนวรรค 5.สังขิตตธนสูตร
เลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคาย
เห็นแจ้งอรรถด้วยปัญญา
ความหลุดพ้นแห่งใจย่อมมีได้
เหมือนความดับไปแห่งประทีป ฉะนั้น
วิตถตพลสูตรที่ 4 จบ

5. สังขิตตธนสูตร
ว่าด้วยอริยทรัพย์โดยย่อ
[5] ภิกษุทั้งหลาย ทรัพย์ 7 ประการนี้
ทรัพย์ 7 ประการ อะไรบ้าง คือ

1. สัทธาธนะ(ทรัพย์คือศรัทธา) 2. สีลธนะ (ทรัพย์คือศีล)
3. หิริธนะ (ทรัพย์คือหิริ) 4. โอตตัปปธนะ (ทรัพย์คือโอตตัปปะ)
5. สุตธนะ (ทรัพย์คือสุตะ) 6. จาคธนะ (ทรัพย์คือจาคะ)
7. ปัญญาธนะ (ทรัพย์คือปัญญา)

ภิกษุทั้งหลาย ทรัพย์ 7 ประการนี้แล
ผู้ใดจะเป็นสตรี หรือบุรุษก็ตาม
มีทรัพย์ 7 ประการนี้ คือ สัทธาธนะ
สีลธนะ หิริธนะ โอตตัปปธนะ
สุตธนะ จาคธนะ และปัญญาธนะ
บัณฑิตทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่า ‘เป็นคนไม่ขัดสน’
ชีวิตของเขาก็ไม่สูญเปล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :8 }