เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 5.มหายัญญวรรค 2.สมาธิปริกขารสูตร
5. มีสัตว์ผู้บรรลุอากาสานัญจายตนฌาน1 อยู่โดยกำหนดว่า ‘อากาศ
หาที่สุดมิได้’ เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่มนสิการ-
นานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ 5
6. มีสัตว์ผู้ล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุ
วิญญาณัญจายตนฌาน2 อยู่โดยกำหนดว่า ‘วิญญาณหาที่สุดมิได้’
นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ 6
7. มีสัตว์ผู้ล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุ
อากิญจัญญายตนฌาน3 อยู่โดยกำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร’ นี้เป็น
วิญญาณฐิติที่ 7
ภิกษุทั้งหลาย วิญญาณฐิติ 7 ประการนี้แล
สัตตวิญญาณัฏฐิติสูตรที่ 1 จบ

2. สมาธิปริกขารสูตร4
ว่าด้วยบริขารแห่งสมาธิ
[45] ภิกษุทั้งหลาย บริขารแห่งสมาธิ5 7 ประการนี้
บริขารแห่งสมาธิ 7 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) 2. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
3. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) 4. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)

เชิงอรรถ :
1 อากาสานัญจายตนฌาน หมายถึงฌานที่กำหนดอากาศคือช่องว่างอันหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ เป็นขั้นที่ 1
ของอรูปฌาน 4 (ที.สี.อ. 1/414/308)
2 วิญญาณัญจายตนฌาน หมายถึงฌานที่กำหนดวิญญาณอันหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ เป็นขั้นที่ 2 ของ
อรูปฌาน 4 (ที.สี.อ. 1/414/308)
3 อากิญจัญญายตนฌาน หมายถึงฌานที่กำหนดภาวะอันไม่มีอะไร(ความว่าง)เป็นอารมณ์ ฌานนี้เรียกอีก
อย่างหนึ่งว่า สัญญัคคะ (ที่สุดแห่งสัญญา) เพราะเป็นภาวะสุดท้ายของการมีสัญญา กล่าวคือ ผู้บรรลุ
อากิญจัญญายตนฌานแล้ว ขั้นต่อไปจะเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานบ้างเข้าถึงสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง
(ที.สี.อ. 1/414/308)
4 ดูเทียบ ที.ม. 10/290/186, ที.ปา. 11/330/221, ม.อุ.14/136/121, สํ.ม.19/28/16
5 บริขารแห่งสมาธิ หมายถึงองค์ประกอบของมรรคสมาธิ (องฺ.สตฺตก.อ. 3/44-45/182)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :68 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 5.มหายัญญวรรค 3.ปฐมอัคคิสูตร
5. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ) 6. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)
7. สัมมาสติ (ระลึกชอบ)
ภิกษุทั้งหลาย สภาวะที่จิตมีอารมณ์เดียวซึ่งมีองค์ 7 ประการนี้แวดล้อม
เรียกว่า ‘อริยสัมมาสมาธิที่มีอุปนิสะ‘1 บ้าง ว่า ‘อริยสัมมาทิฏฐิที่มีบริขาร’ บ้าง
สมาธิปริกขารสูตรที่ 2 จบ

3. ปฐมอัคคิสูตร
ว่าด้วยไฟ สูตรที่ 1
[46] ภิกษุทั้งหลาย อัคคิ (ไฟ) 7 ประการนี้
อัคคิ 7 ประการ2 อะไรบ้าง คือ

1. ราคัคคิ (ไฟคือราคะ)
2. โทสัคคิ (ไฟคือโทสะ)
3. โมหัคคิ (ไฟคือโมหะ)
4. อาหุเนยยัคคิ (ไฟคืออาหุไนยบุคคล)
5. คหปตัคคิ (ไฟคือคหบดี)
6. ทักขิเณยยัคคิ (ไฟคือทักขิไณยบุคคล)
7. กัฏฐัคคิ (ไฟที่เกิดจากไม้)

ภิกษุทั้งหลาย อัคคิ 7 ประการนี้แล
ปฐมอัคคิสูตรที่ 3 จบ

เชิงอรรถ :
1 อุปนิสะ หมายถึงอุปนิสสัยในที่นี้ได้แก่หมวดธรรมที่เป็นเหตุทำหน้าที่ร่วมกัน (ที.ม.อ. 2/290/
257, 290/267)
2 ราคะโทสะ และโมหะ ที่เรียกว่า อัคคิ เพราะมีความหมายว่า ตามเผาผลาญ อาหุเนยยัคคิ แยกอธิบาย
ดังนี้ คือ อาหุเนยยะ + อัคคิ คำว่า อาหุเนยยะ มาจาก อาหุนะ หมายถึงเครื่องสักการะ บุคคลผู้ควรแก่
เครื่องสักการะ เรียกว่า อาหุไนยบุคคล คือมารดาบิดา ที่เรียกว่า อัคคิ เพราะเป็นเหตุให้บุตรผู้ปฏิบัติผิด
ต่อตนต้องถูกเผาไหม้ในนรกได้ คหปตัคคิ แยกเป็น คหปติ + อัคคิ คำว่า คหบดี หมายถึงเจ้าของเรือนผู้
ให้ที่นอน เสื้อผ้า เครื่องประดับ ที่เรียกว่า อัคคิ เพราะเป็นเหตุให้มาตุคามผู้ประพฤตินอกใจตน ต้องถูก
เผาไหม้ในนรก ทักขิเณยยัคคิ แยกเป็น ทักขิเณยยะ + อัคคิ คำว่า ทักขิเณยยะ มาจากคำว่า ทักขิณา
หมายถึงปัจจัย 4 บุคคลผู้ควรแแก่ปัจจัย 4 เรียกว่า ทักขิไณยบุคคล คือภิกษุสงฆ์ ที่เรียกว่า อัคคิ เพราะ
เป็นเหตุให้คฤหัสถ์ผู้ปฏิบัติผิด เช่น ด่า บริภาษ ต้องถูกเผาไหม้ในนรก เป็นต้น กัฏฐัคคิ หมายถึงไฟที่เกิด
จากไม้แห้ง (องฺ.สตฺตก.อ. 3/46/182-183)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :69 }