เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 5.มหายัญญวรรค 1.สัตตวิญญาณัฏฐิติสูตร
5. มหายัญญวรรค
หมวดว่าด้วยมหายัญ
1. สัตตวิญญาณัฏฐิติสูตร1
ว่าด้วยวิญญาณฐิติ 7 ประการ
[44] ภิกษุทั้งหลาย วิญญาณฐิติ2 (ภูมิเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณ) 7 ประการนี้
วิญญาณฐิติ 7 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. มีสัตว์ผู้มีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน คือ มนุษย์บางพวก เทวดา
บางพวก3 และวินิปาติกะบางพวก4 นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ 1
2. มีสัตว์ผู้มีกายต่างกัน แต่มีสัญญาอย่างเดียวกัน คือ เทวดาชั้น
พรหมกายิกา5เกิดในปฐมฌานภูมิ นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ 2
3. มีสัตว์ผู้มีกายอย่างเดียวกัน แต่มีสัญญาต่างกัน คือ เทวดาชั้น
อาภัสสระ นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ 3
4. มีสัตว์ผู้มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน คือ เทวดาชั้น
สุภกิณหะ (เทวดาที่เต็มไปด้วยความงาม) นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ 4

เชิงอรรถ :
1 ที.ม. 10/127/61-62, ที.ปา. 11/332/222-223, 357/258-259, ขุ.จู. (แปล) 30/83/289
2 วิญญาณฐิติ หมายถึงที่ตั้งแห่งปฏิสนธิวิญญาณ (องฺ.สตฺตก.อ. 3/44-45/180)
3 เทวดาบางพวก หมายถึงเทพในสวรรค์ชั้นกามาวาจรภูมิ 6 คือ (1) ชั้นจาตุมหาราช (2) ชั้นดาวดึงส์
(3) ชั้นยาม (4) ชั้นดุสิต (5) ชั้นนิมมานรดี (6) ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี (ที.ม.อ. 2/127/109, ขุ.จู.อ.
83/57)
4 วินิปาติกะบางพวก หมายถึงพวกเวมานิกเปรตที่พ้นจากอบายภูมิ 4 มียักษิณีผู้เป็นมารดาของอุตตระ
ยักษิณีผู้เป็นมารดาของปิยังกระ ยักษิณีผู้เป็นมิตรของผุสสะ ร่างกายของเปรตเหล่านี้แตกต่างกัน คือ มีทั้ง
อ้วน ผอม เตี้ย สูง มีผิวขาว ผิวดำ ผิวสีทอง และสีนิล มีลักษณะ มีสัญญาต่างกัน ด้วย ติเหตุกะ ทุเหตุกะ
และอเหตุกะ เหมือนของมนุษย์ เวมานิกเปรตเหล่านี้ไม่มีศักดิ์มากเหมือนพวกเทวดา บางพวกได้รับทุกข์
ในข้างแรม ได้รับสุขในข้างขึ้น แต่เวมานิกเปรตที่เป็นติเหตุกะสามารถบรรลุธรรมได้ ดุจการบรรลุธรรมของ
ยักษิณีผู้เป็นมารดาของปิยังกระ เป็นต้น (ที.ม.อ. 2/127/109, องฺ.สตฺตก.อ. 3/44-45/180, ขุ.จู.อ.
83/57)
5 เทวดาชั้นพรหมกายิกา หมายถึงพรหมชั้นปฐมฌานภูมิ (ระดับปฐมฌาน) 3 ชั้น คือ (1) พรหมปาริสัชชา
(พวกบริษัทบริวารมหาพรหม) (2) พรหมปโรหิตา (พวกปุโรหิตมหาพรหม) (3) มหาพรหมา (พวกท้าว
มหาพรหม) (ที.ม.อ. 2/127/109-110, องฺ.สตฺตก.อ. 3/44-45/180)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :67 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 5.มหายัญญวรรค 2.สมาธิปริกขารสูตร
5. มีสัตว์ผู้บรรลุอากาสานัญจายตนฌาน1 อยู่โดยกำหนดว่า ‘อากาศ
หาที่สุดมิได้’ เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่มนสิการ-
นานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวง นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ 5
6. มีสัตว์ผู้ล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุ
วิญญาณัญจายตนฌาน2 อยู่โดยกำหนดว่า ‘วิญญาณหาที่สุดมิได้’
นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ 6
7. มีสัตว์ผู้ล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุ
อากิญจัญญายตนฌาน3 อยู่โดยกำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร’ นี้เป็น
วิญญาณฐิติที่ 7
ภิกษุทั้งหลาย วิญญาณฐิติ 7 ประการนี้แล
สัตตวิญญาณัฏฐิติสูตรที่ 1 จบ

2. สมาธิปริกขารสูตร4
ว่าด้วยบริขารแห่งสมาธิ
[45] ภิกษุทั้งหลาย บริขารแห่งสมาธิ5 7 ประการนี้
บริขารแห่งสมาธิ 7 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) 2. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
3. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) 4. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)

เชิงอรรถ :
1 อากาสานัญจายตนฌาน หมายถึงฌานที่กำหนดอากาศคือช่องว่างอันหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ เป็นขั้นที่ 1
ของอรูปฌาน 4 (ที.สี.อ. 1/414/308)
2 วิญญาณัญจายตนฌาน หมายถึงฌานที่กำหนดวิญญาณอันหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ เป็นขั้นที่ 2 ของ
อรูปฌาน 4 (ที.สี.อ. 1/414/308)
3 อากิญจัญญายตนฌาน หมายถึงฌานที่กำหนดภาวะอันไม่มีอะไร(ความว่าง)เป็นอารมณ์ ฌานนี้เรียกอีก
อย่างหนึ่งว่า สัญญัคคะ (ที่สุดแห่งสัญญา) เพราะเป็นภาวะสุดท้ายของการมีสัญญา กล่าวคือ ผู้บรรลุ
อากิญจัญญายตนฌานแล้ว ขั้นต่อไปจะเข้าถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานบ้างเข้าถึงสัญญาเวทยิตนิโรธบ้าง
(ที.สี.อ. 1/414/308)
4 ดูเทียบ ที.ม. 10/290/186, ที.ปา. 11/330/221, ม.อุ.14/136/121, สํ.ม.19/28/16
5 บริขารแห่งสมาธิ หมายถึงองค์ประกอบของมรรคสมาธิ (องฺ.สตฺตก.อ. 3/44-45/182)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :68 }