เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 4.เทวตาวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
5. เป็นผู้ปรารภความเพียร 6. เป็นผู้มีสติ
7. เป็นผู้มีปัญญา
อานนท์ นิททสวัตถุ 7 ประการนี้แล เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว
จึงประกาศไว้
ภิกษุประกอบด้วยนิททสวัตถุ 7 ประการนี้แล หากประพฤติพรหมจรรย์
บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ 12 ปี ก็ควรเรียกภิกษุนั้นว่า ‘นิททสภิกษุ’ หากประพฤติ
พรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ 24 ปี ก็ควรเรียกภิกษุนั้นว่า ‘นิททสภิกษุ’
หากประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ 36 ปี ก็ควรเรียกภิกษุนั้นว่า
‘นิททสภิกษุ’ หากประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ 48 ปี ก็ควรเรียก
ภิกษุนั้นว่า ‘นิททสภิกษุ'
ทุติยนิททสสูตรที่ 11 จบ
เทวตาวรรคที่ 4 จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

1. อัปปมาทคารวสูตร 2. หิริคารวสูตร
3. ปฐมโสวจัสสตาสูตร 4. ทุติยโสวจัสสตาสูตร
5. ปฐมมิตตสูตร 6. ทุติยมิตตสูตร
7. ปฐมปฏิสัมภิทาสูตร 8. ทุติยปฏิสัมภิทาสูตร
9. ปฐมวสสูตร 10. ทุติยวสสูตร
11. ปฐมนิททสสูตร 12. ทุติยนิททสสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :66 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 5.มหายัญญวรรค 1.สัตตวิญญาณัฏฐิติสูตร
5. มหายัญญวรรค
หมวดว่าด้วยมหายัญ
1. สัตตวิญญาณัฏฐิติสูตร1
ว่าด้วยวิญญาณฐิติ 7 ประการ
[44] ภิกษุทั้งหลาย วิญญาณฐิติ2 (ภูมิเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณ) 7 ประการนี้
วิญญาณฐิติ 7 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. มีสัตว์ผู้มีกายต่างกัน มีสัญญาต่างกัน คือ มนุษย์บางพวก เทวดา
บางพวก3 และวินิปาติกะบางพวก4 นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ 1
2. มีสัตว์ผู้มีกายต่างกัน แต่มีสัญญาอย่างเดียวกัน คือ เทวดาชั้น
พรหมกายิกา5เกิดในปฐมฌานภูมิ นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ 2
3. มีสัตว์ผู้มีกายอย่างเดียวกัน แต่มีสัญญาต่างกัน คือ เทวดาชั้น
อาภัสสระ นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ 3
4. มีสัตว์ผู้มีกายอย่างเดียวกัน มีสัญญาอย่างเดียวกัน คือ เทวดาชั้น
สุภกิณหะ (เทวดาที่เต็มไปด้วยความงาม) นี้เป็นวิญญาณฐิติที่ 4

เชิงอรรถ :
1 ที.ม. 10/127/61-62, ที.ปา. 11/332/222-223, 357/258-259, ขุ.จู. (แปล) 30/83/289
2 วิญญาณฐิติ หมายถึงที่ตั้งแห่งปฏิสนธิวิญญาณ (องฺ.สตฺตก.อ. 3/44-45/180)
3 เทวดาบางพวก หมายถึงเทพในสวรรค์ชั้นกามาวาจรภูมิ 6 คือ (1) ชั้นจาตุมหาราช (2) ชั้นดาวดึงส์
(3) ชั้นยาม (4) ชั้นดุสิต (5) ชั้นนิมมานรดี (6) ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี (ที.ม.อ. 2/127/109, ขุ.จู.อ.
83/57)
4 วินิปาติกะบางพวก หมายถึงพวกเวมานิกเปรตที่พ้นจากอบายภูมิ 4 มียักษิณีผู้เป็นมารดาของอุตตระ
ยักษิณีผู้เป็นมารดาของปิยังกระ ยักษิณีผู้เป็นมิตรของผุสสะ ร่างกายของเปรตเหล่านี้แตกต่างกัน คือ มีทั้ง
อ้วน ผอม เตี้ย สูง มีผิวขาว ผิวดำ ผิวสีทอง และสีนิล มีลักษณะ มีสัญญาต่างกัน ด้วย ติเหตุกะ ทุเหตุกะ
และอเหตุกะ เหมือนของมนุษย์ เวมานิกเปรตเหล่านี้ไม่มีศักดิ์มากเหมือนพวกเทวดา บางพวกได้รับทุกข์
ในข้างแรม ได้รับสุขในข้างขึ้น แต่เวมานิกเปรตที่เป็นติเหตุกะสามารถบรรลุธรรมได้ ดุจการบรรลุธรรมของ
ยักษิณีผู้เป็นมารดาของปิยังกระ เป็นต้น (ที.ม.อ. 2/127/109, องฺ.สตฺตก.อ. 3/44-45/180, ขุ.จู.อ.
83/57)
5 เทวดาชั้นพรหมกายิกา หมายถึงพรหมชั้นปฐมฌานภูมิ (ระดับปฐมฌาน) 3 ชั้น คือ (1) พรหมปาริสัชชา
(พวกบริษัทบริวารมหาพรหม) (2) พรหมปโรหิตา (พวกปุโรหิตมหาพรหม) (3) มหาพรหมา (พวกท้าว
มหาพรหม) (ที.ม.อ. 2/127/109-110, องฺ.สตฺตก.อ. 3/44-45/180)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :67 }