เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 4.เทวตาวรรค 12.ทุติยนิททสสูตร
ท่านพระอานนท์ไม่ยินดี ไม่คัดค้านภาษิตของอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น
ลุกจากอาสนะจากไปด้วยคิดว่า “เราจักรู้ชัดเนื้อความแห่งภาษิตนี้ในสำนักของพระผู้
มีพระภาค” ท่านพระอานนท์ครั้นเที่ยวบิณฑบาตในกรุงโกสัมพี กลับจากบิณฑบาต
หลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเช้านี้ ข้าพระองค์ครองอันตรวาสก ถือบาตรและ
จีวรเข้าไปยังกรุงโกสัมพีเพื่อบิณฑบาต ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘การเที่ยวบิณฑบาต
ในกรุงโกสัมพียังเช้านัก ทางที่ดี เราควรจะเข้าไปยังอารามของพวกอัญเดียรถีย์
ปริพาชก’ ครั้นแล้วจึงเข้าไปยังอารามของพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก ได้สนทนา
ปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร สมัยนั้นแล
พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกนั่งประชุมกัน สนทนากันในระหว่างการประชุมว่า ผู้มีอายุ
ทั้งหลาย ท่านผู้ใดผู้หนึ่งประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ 12 ปี ควรเรียก
ท่านผู้นั้นว่า ‘นิททสภิกษุ’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่ยินดี ไม่คัดค้าน
ภาษิตของอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น ลุกจากอาสนะจากไปด้วยคิดว่า ‘เราจักรู้ชัด
เนื้อความแห่งภาษิตนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาค’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อาจหรือหนอ
ที่จะบัญญัตินิททสภิกษุไว้ในพระธรรมวินัยนี้ด้วยเหตุเพียงนับพรรษาอย่างเดียว”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อานนท์ ไม่อาจเลยที่จะบัญญัตินิททสภิกษุไว้ใน
ธรรมวินัยนี้ด้วยเหตุเพียงนับพรรษาอย่างเดียว นิททสวัตถุ 7 ประการนี้แล เราทำ
ให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วจึงประกาศไว้
นิททสวัตถุ 7 ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
1. เป็นผู้มีศรัทธา 2. เป็นผู้มีหิริ
3. เป็นผู้มีโอตตัปปะ 4. เป็นพหูสูต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :65 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 4.เทวตาวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
5. เป็นผู้ปรารภความเพียร 6. เป็นผู้มีสติ
7. เป็นผู้มีปัญญา
อานนท์ นิททสวัตถุ 7 ประการนี้แล เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว
จึงประกาศไว้
ภิกษุประกอบด้วยนิททสวัตถุ 7 ประการนี้แล หากประพฤติพรหมจรรย์
บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ 12 ปี ก็ควรเรียกภิกษุนั้นว่า ‘นิททสภิกษุ’ หากประพฤติ
พรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ 24 ปี ก็ควรเรียกภิกษุนั้นว่า ‘นิททสภิกษุ’
หากประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ 36 ปี ก็ควรเรียกภิกษุนั้นว่า
‘นิททสภิกษุ’ หากประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ 48 ปี ก็ควรเรียก
ภิกษุนั้นว่า ‘นิททสภิกษุ'
ทุติยนิททสสูตรที่ 11 จบ
เทวตาวรรคที่ 4 จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

1. อัปปมาทคารวสูตร 2. หิริคารวสูตร
3. ปฐมโสวจัสสตาสูตร 4. ทุติยโสวจัสสตาสูตร
5. ปฐมมิตตสูตร 6. ทุติยมิตตสูตร
7. ปฐมปฏิสัมภิทาสูตร 8. ทุติยปฏิสัมภิทาสูตร
9. ปฐมวสสูตร 10. ทุติยวสสูตร
11. ปฐมนิททสสูตร 12. ทุติยนิททสสูตร


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :66 }