เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 4.เทวตาวรรค 12.ทุติยนิททสสูตร
7. เป็นผู้มีฉันทะอย่างแรงกล้าในการแทงตลอดด้วยทิฏฐิ และได้ความ
รักในการแทงตลอดด้วยทิฏฐิต่อไป
สารีบุตร นิททสวัตถุ 7 ประการนี้แล เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว
จึงประกาศไว้
ภิกษุประกอบด้วยนิททสวัตถุ 7 ประการนี้แล หากประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์
บริบูรณ์ครบ 12 ปี ควรเรียกภิกษุนั้นว่า ‘นิททสภิกษุ’ หากประพฤติพรหมจรรย์
บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ 24 ปี ควรเรียกภิกษุนั้นว่า ‘นิททสภิกษุ’ หากประพฤติพรหม
จรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ 36 ปี ก็ควรเรียกภิกษุนั้นว่า ‘นิททสภิกษุ’ หากประพฤติ
พรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ 48 ปี ก็ควรเรียกภิกษุนั้นว่า ‘นิททสภิกษุ'
ปฐมนิททสสูตรที่ 11 จบ

12. ทุติยนิททสสูตร
ว่าด้วยนิททสวัตถุ สูตรที่ 2
[43] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เขตกรุงโกสัมพี ครั้งนั้นแล
เวลาเช้า ท่านพระอานนท์ครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวรเข้าไปยังกรุงโกสัมพี
เพื่อบิณฑบาต ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า “การเที่ยวบิณฑบาตในกรุงโกสัมพียังเช้านัก
ทางที่ดี เราควรจะเข้าไปยังอารามของพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก” ครั้นแล้วจึงเข้าไปยัง
อารามของพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็น
ที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
สมัยนั้นแล พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกนั่งประชุมกัน สนทนากันในระหว่าง
การประชุมว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านผู้ใดผู้หนึ่งประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์
ครบ 12 ปี ควรเรียกท่านผู้นั้นว่า “นิททสภิกษุ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :64 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 4.เทวตาวรรค 12.ทุติยนิททสสูตร
ท่านพระอานนท์ไม่ยินดี ไม่คัดค้านภาษิตของอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น
ลุกจากอาสนะจากไปด้วยคิดว่า “เราจักรู้ชัดเนื้อความแห่งภาษิตนี้ในสำนักของพระผู้
มีพระภาค” ท่านพระอานนท์ครั้นเที่ยวบิณฑบาตในกรุงโกสัมพี กลับจากบิณฑบาต
หลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเช้านี้ ข้าพระองค์ครองอันตรวาสก ถือบาตรและ
จีวรเข้าไปยังกรุงโกสัมพีเพื่อบิณฑบาต ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘การเที่ยวบิณฑบาต
ในกรุงโกสัมพียังเช้านัก ทางที่ดี เราควรจะเข้าไปยังอารามของพวกอัญเดียรถีย์
ปริพาชก’ ครั้นแล้วจึงเข้าไปยังอารามของพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก ได้สนทนา
ปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร สมัยนั้นแล
พวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกนั่งประชุมกัน สนทนากันในระหว่างการประชุมว่า ผู้มีอายุ
ทั้งหลาย ท่านผู้ใดผู้หนึ่งประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบ 12 ปี ควรเรียก
ท่านผู้นั้นว่า ‘นิททสภิกษุ’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่ยินดี ไม่คัดค้าน
ภาษิตของอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น ลุกจากอาสนะจากไปด้วยคิดว่า ‘เราจักรู้ชัด
เนื้อความแห่งภาษิตนี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาค’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อาจหรือหนอ
ที่จะบัญญัตินิททสภิกษุไว้ในพระธรรมวินัยนี้ด้วยเหตุเพียงนับพรรษาอย่างเดียว”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อานนท์ ไม่อาจเลยที่จะบัญญัตินิททสภิกษุไว้ใน
ธรรมวินัยนี้ด้วยเหตุเพียงนับพรรษาอย่างเดียว นิททสวัตถุ 7 ประการนี้แล เราทำ
ให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วจึงประกาศไว้
นิททสวัตถุ 7 ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
1. เป็นผู้มีศรัทธา 2. เป็นผู้มีหิริ
3. เป็นผู้มีโอตตัปปะ 4. เป็นพหูสูต

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :65 }