เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 4.มหาวรรค 9.นาคสูตร
ภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง
บรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน โดยกำหนดว่า ‘วิญญาณหาที่สุดมิได้’ อยู่ ฯลฯ
ล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุอากิญจัญญายตนฌาน โดย
กำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร’ อยู่ ฯลฯ ล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง
บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ ฯลฯ ล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน
โดยประการทั้งปวง บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ อาสวะทั้งหลายของเธอหมด
สิ้นแล้ว เพราะเห็นด้วยปัญญา เราเรียกว่า ภิกษุนี้ทำให้มารสิ้นสุด ไร้ร่องรอย
ปิดตามารผู้มีบาปจนมองไม่เห็น ข้ามพ้นตัณหาเครื่องข้องในโลกได้แล้ว
เทวาสุรสังคามสูตรที่ 8 จบ

9. นาคสูตร
ว่าด้วยการหาความสงบของพญาช้าง
[40] ภิกษุทั้งหลาย สมัยใด เมื่อพญาช้างที่อยู่ในป่าขวนขวายเที่ยวหากินอยู่
เหล่าช้างพลาย ช้างพัง ลูกช้างใหญ่ และลูกช้างเล็ก เดินไปข้างหน้าๆ ทำลาย
ยอดหญ้า พญาช้างที่อยู่ในป่าย่อมอึดอัด ระอา รังเกียจ เพราะการกระทำนั้น
ภิกษุทั้งหลาย สมัยใด เมื่อพญาช้างที่อยู่ในป่า ขวนขวายเที่ยวหากินอยู่ เหล่า
ช้างพลาย ช้างพัง ลูกช้างใหญ่ และลูกช้างเล็กต่างก็พากันกินกิ่งไม้ที่หักลงมา
พญาช้างที่อยู่ในป่าย่อมอึดอัด ระอา รังเกียจ เพราะการกระทำนั้น ภิกษุทั้งหลาย
สมัยใด เมื่อพญาช้างที่อยู่ในป่าลงสู่ท่าน้ำ เหล่าช้างพลาย ช้างพัง ลูกช้างใหญ่
และลูกช้างเล็กต่างก็เดินไปข้างหน้าๆ ใช้งวงกวนน้ำให้ขุ่น พญาช้างที่อยู่ในป่า ย่อม
อึดอัด ระอา รังเกียจ เพราะการกระทำนั้น ภิกษุทั้งหลาย สมัยใด เมื่อพญาช้าง
ที่อยู่ในป่า ขึ้นจากท่าน้ำแล้ว ช้างพังย่อมเดินเสียดสีกายไป พญาช้างที่อยู่ในป่า
ย่อมอึดอัด ระอา รังเกียจ เพราะการกระทำนั้น
ภิกษุทั้งหลาย สมัยนั้น พญาช้างที่อยู่ในป่าได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘บัดนี้
เราอยู่พลุกพล่านไปด้วยช้างพลาย ช้างพัง ลูกช้างใหญ่ และลูกช้างเล็ก กินหญ้า


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :520 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 4.มหาวรรค 9.นาคสูตร
ยอดด้วน ถูกช้างเหล่านั้นแย่งกินกิ่งไม้ที่เราหักลงมา ดื่มน้ำที่ขุ่น และเมื่อเรา
ขึ้นจากท่าน้ำ ช้างพังก็เดินเสียดสีกายไป ทางที่ดี เราควรหลีกออกจากโขลงไปอยู่
ผู้เดียว‘1 ต่อมา พญาช้างนั้นได้หลีกออกจากโขลงไปอยู่ผู้เดียว กินหญ้ายอดไม่ด้วน
ไม่ถูกช้างเหล่านั้นแย่งกินกิ่งไม้ที่ตนหักลงมา ดื่มน้ำที่ไม่ขุ่น และเมื่อพญาช้างนั้นขึ้น
จากท่าน้ำก็ไม่ถูกช้างพังเดินเสียดสีกายไป
ภิกษุทั้งหลาย สมัยนั้น พญาช้างที่อยู่ในป่ามีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เมื่อก่อน
เราอยู่พลุกพล่านไปด้วยช้างพลาย ช้างพัง ลูกช้างใหญ่ และลูกช้างเล็ก กินหญ้า
ยอดด้วน ถูกช้างเหล่านั้นแย่งกินกิ่งไม้ที่เราหักลงมา ดื่มน้ำที่ขุ่น และเมื่อเราขึ้น
จากท่าน้ำ ก็ถูกช้างพังเดินเสียดสีกายไป บัดนี้ เรานั้นได้หลีกออกจากโขลงมาอยู่
ผู้เดียว กินหญ้ายอดไม่ด้วน ไม่ถูกช้างเหล่านั้นแย่งกินกิ่งไม้ที่เราหักลงมา ดื่มน้ำที่
ไม่ขุ่น และเมื่อเราขึ้นจากท่าน้ำก็ไม่ถูกช้างพังเดินเสียดสีกายไป’ พญาช้างนั้นใช้งวง
หักกิ่งไม้ ใช้กิ่งไม้ปัดกาย มีใจเบิกบาน บำบัดโรคคัน
ภิกษุทั้งหลาย ในทำนองเดียวกัน สมัยใด ภิกษุอยู่พลุกพล่านไปด้วยภิกษุ
ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา เดียรถีย์ และพวก
สาวกของเดียรถีย์ สมัยนั้น ภิกษุมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘บัดนี้ เราแลอยู่พลุกพล่าน
ไปด้วยภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา
เดียรถีย์ และพวกสาวกของเดียรถีย์ ทางที่ดี เราควรหลีกออกจากหมู่ไปอยู่ผู้เดียว’
เธอใช้สอยเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าทึบ
ที่กลางแจ้ง ลอมฟาง’ เธอไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี หรือไปสู่เรือนว่างก็ดี ย่อมนั่งคู้
บัลลังก์2 ตั้งกายตรงดำรงสติไว้เฉพาะหน้า3

เชิงอรรถ :
1 ดู ขุ.อุ. 25/35/148
2 นั่งคู้บัลลังก์ หมายถึงนั่งพับขาเข้าหากันทั้งสองข้าง เรียกว่านั่งสมาธิ (วิ.อ. 1/165/445)
3 ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า หมายถึงตั้งสติกำหนดอารมณ์กัมมัฏฐาน (วิ.อ. 1/165/445)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :521 }