เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 4.มหาวรรค 6.อานันทสูตร
โสตะ (หู) ชื่อว่าจักเป็นโสตะนั้นนั่นเอง คือ เสียงเหล่านั้นจักไม่รับรู้อายตนะนั้น
และอายตนะนั้นก็จักไม่รับรู้เสียงเหล่านั้น
ฆานะ (จมูก) ชื่อว่าจักเป็นฆานะนั้นนั่นเอง คือ กลิ่นเหล่านั้นจักไม่รับรู้อายตนะนั้น
และอายตนะนั้นก็จักไม่รับรู้กลิ่นเหล่านั้น
ชิวหา (ลิ้น) ชื่อว่าจักเป็นชิวหานั้นนั่นเอง คือ รสเหล่านั้นจักไม่รับรู้อายตนะนั้น
และอายตนะนั้นก็จักไม่รับรสเหล่านั้น
กาย ชื่อว่าจักเป็นกายนั้นนั่นเอง คือ โผฏฐัพพะเหล่านั้นจักไม่รับรู้อายตนะนั้น
และอายตนะนั้นก็จักไม่รับรู้โผฏฐัพพะเหล่านั้น”
เมื่อท่านพระอานนท์กล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระอุทายี1ได้ถามท่านพระ
อานนท์ดังนี้ว่า “ท่านอานนท์ คนผู้มีสัญญาเท่านั้น หรือว่าคนไม่มีสัญญา ไม่รับรู้
อายตนะนั้น”
ท่านพระอานนท์ตอบว่า “ผู้มีอายุ คนมีสัญญานั้นก็ไม่รับรู้อายตนะได้ หรือ
คนไม่มีสัญญาก็ไม่รับรู้อายตนะนั้นได้”
ท่านพระอุทายีถามว่า “ผู้มีอายุ คนผู้มีสัญญาอย่างไร จึงไม่รับรู้อายตนะนั้น”
ท่านพระอานนท์ตอบว่า “ผู้มีอายุ ภิกษุในธรรมวินัยนี้บรรลุอากาสานัญจายตน-
ฌานโดยกำหนดว่า ‘อากาศหาที่สุดมิได้’ อยู่ เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา
ไม่กำหนดนานัตตสัญญา ภิกษุผู้มีสัญญาอย่างนี้แล ย่อมไม่รับรู้อายตนะนั้น
ภิกษุล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุวิญญาณัญจายตน-
ฌาน โดยกำหนดว่า ‘วิญญาณหาที่สุดมิได้’ อยู่ ภิกษุผู้มีสัญญาอย่างนี้แล ย่อมไม่
รับรู้อายตนะนั้น
ภิกษุล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง บรรลุอากิญจัญญายตนฌาน
โดยกำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร’ อยู่ ภิกษุผู้มีสัญญาอย่างนี้แล ย่อมไม่รับรู้อายตนะนั้น

เชิงอรรถ :
1 พระอุทายี ในที่นี้คือพระกาฬุทายีเถระ (องฺ.นวก.อ. 3/37/311)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :514 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 4.มหาวรรค 7.โลกายติกสูตร
ผู้มีอายุ ครั้งหนึ่ง ผมพักอยู่ ณ อัญชนมิคทายวัน เมืองสาเกต ครั้งนั้นแล
ภิกษุณีชื่อชฏิลภาคิกาเข้าไปหาผมจนถึงที่อยู่ ไหว้แล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร ครั้นแล้ว
ได้กล่าวกับผมดังนี้ว่า ‘ท่านอานนท์ผู้เจริญ สมาธิใดอันกิเลสน้อมไปไม่ได้1 นำไป
ไม่ได้2 ไม่มีการข่มห้ามกิเลสด้วยธรรมเครื่องปรุงแต่ง ชื่อว่าตั้งมั่นแล้วเพราะ
หลุดพ้น ชื่อว่ายินดีเพราะตั้งมั่น ชื่อว่าไม่สะดุ้งเพราะยินดี สมาธินี้พระผู้มีพระภาค
ตรัสว่า มีอะไรเป็นผล’ เมื่อชฏิลภาคิกาภิกษุณีกล่าวอย่างนี้แล้ว ผมได้กล่าวกับ
ภิกษุณีนั้นว่า ‘น้องหญิง สมาธิใดอันกิเลสน้อมไปไม่ได้ นำไปไม่ได้ ไม่มีการข่ม
ห้ามกิเลสด้วยธรรมเครื่องปรุงแต่ง ชื่อว่าตั้งมั่นแล้วเพราะหลุดพ้น ชื่อว่ายินดี
เพราะตั้งมั่น ชื่อว่าไม่สะดุ้งเพราะยินดี สมาธินี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มีอรหัต
เป็นผล’ ผู้มีอายุ ภิกษุผู้มีสัญญาอย่างนี้ ย่อมไม่รับรู้อายตนะนั้น”
อานันทสูตรที่ 6 จบ

7. โลกายติกสูตร
ว่าด้วยพราหมณ์ผู้ชำนาญคัมภีร์โลกายัต3
[38] ครั้งนั้น พราหมณ์ผู้ชำนาญในคัมภีร์โลกายัต 2 คน เข้าไปเฝ้าพระ
ผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคพอเป็นที่บันเทิงใจ
พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่ท่านพระโคดม ท่านปูรณะ กัสสปะ เป็นสัพพัญญู เห็นสิ่งทั้งปวง
ปฏิญญาญาณทัสสนะอย่างเบ็ดเสร็จว่า ‘เมื่อเราเดิน ยืน หลับ และตื่นอยู่
ญาณทัสสนะได้ปรากฏต่อเนื่องตลอดไป’ เธอกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เรารู้เห็นโลกอันไม่มี
ที่สุดด้วยญาณอันไม่มีที่สุด’ ท่านพระโคดม แม้แต่ท่านนิครนถ นาฎบุตรนี้ก็เป็น
สัพพัญญู เห็นสิ่งทั้งปวง ปฏิญญาญาณทัสสนะอย่างเบ็ดเสร็จว่า ‘เมื่อเราเดิน
ยืน หลับ และตื่นอยู่ ญาณทัสสนะได้ปรากฏต่อเนื่องตลอดไป’ เธอกล่าวอย่างนี้ว่า

เชิงอรรถ :
1 น้อมไปไม่ได้ ในที่นี้หมายถึงไม่น้อมไปตามอำนาจราคะ (องฺ.นวก.อ. 3/37/311)
2 นำไปไม่ได้ ในที่นี้หมายถึงไม่ถูกชักนำไปตามอำนาจโทสะ (องฺ.นวก.อ. 3/37/311)
3 โลกายัต หมายถึงวิตัณฑวาทศาสตร์ คือ ศิลปะแห่งการเอาชนะผู้อื่นในเชิงวาทศิลป์ โดยการอ้างทฤษฎีและ
ประเพณีทางสังคมมาหักล้างสัจธรรม มุ่งแสดงให้เห็นว่าตนฉลาดกว่า มิได้มุ่งสัจธรรมแต่อย่างใด (ที.สี.อ.
1/256/222)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :515 }