เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 3.สัตตาวาสวรรค 7.ปฐมเวรสูตร
ก็ไม่พึงทำให้เสาหินนั้นสั่นคลอน สะเทือน หวั่นไหวได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะ
หลุมลึกและเสาหินฝังไว้ดี ฉันใด
แม้หากรูปอย่างหยาบที่พึงรู้แจ้งทางตา ผ่านมาทางคลองจักษุของภิกษุผู้มีจิต
หลุดพ้นโดยชอบแล้วอย่างนี้ รูปเหล่านั้นก็ครอบงำจิตของเธอไม่ได้ จิตของเธอ
ไม่ระคนกับรูปเหล่านั้นเลย เป็นจิตตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว และเธอย่อมพิจารณาเห็น
ความเสื่อมแห่งรูปนั้น ฉันนั้นเหมือนกัน
แม้หากเสียงอย่างหยาบที่พึงรู้แจ้งทางหู ฯลฯ
แม้หากกลิ่นอย่างหยาบที่พึงรู้แจ้งทางจมูก ฯลฯ
แม้หากรสอย่างหยาบที่พึงรู้แจ้งทางลิ้น ฯลฯ
แม้หากโผฏฐัพพะอย่างหยาบที่พึงรู้แจ้งทางกาย ฯลฯ
แม้หากธรรมารมณ์อย่างหยาบที่พึงรู้แจ้งทางใจ ผ่านมาทางคลองใจของภิกษุ
ผู้มีจิตหลุดพ้นโดยชอบแล้วอย่างนี้ ธรรมารมณ์เหล่านั้นก็ครอบงำจิตของเธอไม่ได้
จิตของเธอไม่ระคนกับธรรมารมณ์เหล่านั้นเลย เป็นจิตตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว และเธอ
ย่อมพิจารณาเห็นความเสื่อมแห่งธรรมารมณ์นั้น ฉันนั้นเหมือนกัน”
สิลายูปสูตรที่ 6 จบ

7. ปฐมเวรสูตร
ว่าด้วยภัยเวร1 สูตรที่ 1
[27] ครั้งนั้นแล อนาถบิณฑิกคหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสกับอนาถบิณฑิกคหบดี
ดังนี้ว่า “คหบดี เมื่อใด อริยสาวกระงับภัยเวร 5 ประการได้แล้ว และประกอบด้วย
องค์เครื่องบรรลุโสดา2 4 ประการ เมื่อนั้น อริยสาวกนั้นเมื่อหวังอยู่ พึงพยากรณ์
ตนเองว่า ‘เรามีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานสิ้นแล้ว มีภูมิแห่งเปรตสิ้นแล้ว

เชิงอรรถ :
1 ดู องฺ.ทสก. (แปล) 24/92/212-214
2 องค์เครื่องบรรลุโสดา ในที่นี้หมายถึงคุณสมบัติของพระโสดาบัน (สํ.ม.อ. 3/478/308)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :486 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 3.สัตตาวาสวรรค 7.ปฐมเวรสูตร
มีอบาย ทุคติ และวินิบาต1สิ้นแล้ว เป็นโสดาบัน2 ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่
จะสำเร็จสัมโพธิ3ในวันข้างหน้า’
อริยสาวกระงับภัยเวร 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. บุคคลผู้ฆ่าสัตว์ เพราะการฆ่าสัตว์เป็นปัจจัย จึงประสพภัยเวรที่
เป็นไปในปัจจุบันบ้าง ในสัมปรายภพบ้าง ต้องเสวยทุกขโทมนัส
ทางใจบ้าง บุคคลผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ย่อมไม่ประสพภัยเวรที่
เป็นไปในปัจจุบัน ที่เป็นไปในสัมปรายภพ ทั้งไม่ต้องเสวยทุกข-
โทมนัสทางใจ บุคคลผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์แล้ว ย่อมระงับภัยเวร
นั้นได้ อย่างนี้
2. บุคคลผู้ลักทรัพย์ ...
3. บุคคลผู้ประพฤติผิดในกาม ...
4. บุคคลผู้พูดเท็จ ...
5. บุคคลผู้เสพของมึนเมาคือสุราและเมรัย4อันเป็นเหตุแห่งความ
ประมาท เพราะการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่ง
ความประมาทเป็นปัจจัย จึงประสพภัยเวรที่เป็นไปในปัจจุบันบ้าง
ในสัมปรายภพบ้าง ต้องเสวยทุกขโทมนัสทางใจบ้าง บุคคลผู้เว้น
ขาดจากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความ
ประมาท ย่อมไม่ประสพภัยเวรที่เป็นไปในปัจจุบัน ที่เป็นไปใน
สัมปรายภพ ทั้งไม่ต้องเสวยทุกขโทมนัสทางใจ บุคคลผู้เว้นขาด
จากการเสพของมึนเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นเหตุแห่งความประมาท
แล้วย่อมระงับภัยเวรนั้นได้ อย่างนี้
อริยสาวกระงับภัยเวร 5 ประการ เป็นอย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
1 อบาย ทุคติ วินิบาต ทั้ง 3 คำนี้เป็นไวพจน์ของนรก (องฺ.เอกก.อ. 1/43/50)
2 โสดาบัน หมายถึงผู้ประกอบด้วยอริยมรรคมีองค์ 8 เพราะคำว่า โสตะ เป็นชื่อของอริยมรรคมีองค์ 8
(อภิ.ปญฺจ.อ. 31/530)
3 ดูเชิงอรรถที่ 1 สัตตกนิบาต ข้อ 15 หน้า 23 ในเล่มนี้
4 ดูเชิงอรรถที่ 2 สัตตกนิบาต ข้อ 6 หน้า 10 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :487 }