เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 3.สัตตาวาสวรรค 6.สิลายูปสูตร
แม้ครั้งที่ 3 ท่านพระสารีบุตรก็ได้กล่าวกับท่านพระจันทิกาบุตรดังนี้ว่า “ท่าน
จันทิกาบุตร พระเทวทัตไม่แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า ‘เมื่อใด ภิกษุ
อบรมจิตด้วยจิต เมื่อนั้น ภิกษุนั้นควรพยากรณ์ดังนี้ว่า ‘เรารู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว
อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีก
ต่อไป’ แต่พระเทวทัตแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุทั้งหลาย
เมื่อใด ภิกษุอบรมจิตดีด้วยจิต เมื่อนั้น ภิกษุนั้นควรพยากรณ์ดังนี้ว่า ‘เรารู้ชัดว่า
‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อ
ความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’
ภิกษุอบรมจิตดีด้วยจิต เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุอบรมจิตดีด้วยจิตว่า
1. จิตของเราปราศจากราคะแล้ว
2. จิตของเราปราศจากโทสะแล้ว
3. จิตของเราปราศจากโมหะแล้ว
4. จิตของเราไม่มีราคะเป็นธรรมดา
5. จิตของเราไม่มีโทสะเป็นธรรมดา
6. จิตของเราไม่มีโมหะเป็นธรรมดา
7. จิตของเราไม่กลับมาในกามภพเป็นธรรมดา
8. จิตของเราไม่กลับมาในรูปภพเป็นธรรมดา
9. จิตของเราไม่กลับมาในอรูปภพเป็นธรรมดา
ผู้มีอายุ แม้หากรูปอย่างหยาบที่พึงรู้แจ้งทางตา ผ่านมาทางคลองจักษุของ
ภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นโดยชอบแล้วอย่างนี้ รูปเหล่านั้นก็ครอบงำจิตของเธอไม่ได้
จิตของเธอไม่ระคนกับรูปเหล่านั้นเลย เป็นจิตตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว และเธอย่อม
พิจารณาเห็นความเสื่อมแห่งรูปนั้น
ผู้มีอายุ เสาหินยาว 16 ศอกหยั่งลงไปในหลุม 8 ศอก อยู่บนหลุม 8 ศอก
แม้ลมพายุอย่างแรงพัดมาทางทิศบูรพาก็ไม่พึงทำให้เสาหินนั้นสั่นคลอน สะเทือน
หวั่นไหวได้ แม้ลมพายุอย่างแรงพัดมาทางทิศตะวันตก ฯลฯ ทางทิศเหนือ ฯลฯ ทางทิศใต้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :485 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 3.สัตตาวาสวรรค 7.ปฐมเวรสูตร
ก็ไม่พึงทำให้เสาหินนั้นสั่นคลอน สะเทือน หวั่นไหวได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะ
หลุมลึกและเสาหินฝังไว้ดี ฉันใด
แม้หากรูปอย่างหยาบที่พึงรู้แจ้งทางตา ผ่านมาทางคลองจักษุของภิกษุผู้มีจิต
หลุดพ้นโดยชอบแล้วอย่างนี้ รูปเหล่านั้นก็ครอบงำจิตของเธอไม่ได้ จิตของเธอ
ไม่ระคนกับรูปเหล่านั้นเลย เป็นจิตตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว และเธอย่อมพิจารณาเห็น
ความเสื่อมแห่งรูปนั้น ฉันนั้นเหมือนกัน
แม้หากเสียงอย่างหยาบที่พึงรู้แจ้งทางหู ฯลฯ
แม้หากกลิ่นอย่างหยาบที่พึงรู้แจ้งทางจมูก ฯลฯ
แม้หากรสอย่างหยาบที่พึงรู้แจ้งทางลิ้น ฯลฯ
แม้หากโผฏฐัพพะอย่างหยาบที่พึงรู้แจ้งทางกาย ฯลฯ
แม้หากธรรมารมณ์อย่างหยาบที่พึงรู้แจ้งทางใจ ผ่านมาทางคลองใจของภิกษุ
ผู้มีจิตหลุดพ้นโดยชอบแล้วอย่างนี้ ธรรมารมณ์เหล่านั้นก็ครอบงำจิตของเธอไม่ได้
จิตของเธอไม่ระคนกับธรรมารมณ์เหล่านั้นเลย เป็นจิตตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว และเธอ
ย่อมพิจารณาเห็นความเสื่อมแห่งธรรมารมณ์นั้น ฉันนั้นเหมือนกัน”
สิลายูปสูตรที่ 6 จบ

7. ปฐมเวรสูตร
ว่าด้วยภัยเวร1 สูตรที่ 1
[27] ครั้งนั้นแล อนาถบิณฑิกคหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสกับอนาถบิณฑิกคหบดี
ดังนี้ว่า “คหบดี เมื่อใด อริยสาวกระงับภัยเวร 5 ประการได้แล้ว และประกอบด้วย
องค์เครื่องบรรลุโสดา2 4 ประการ เมื่อนั้น อริยสาวกนั้นเมื่อหวังอยู่ พึงพยากรณ์
ตนเองว่า ‘เรามีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานสิ้นแล้ว มีภูมิแห่งเปรตสิ้นแล้ว

เชิงอรรถ :
1 ดู องฺ.ทสก. (แปล) 24/92/212-214
2 องค์เครื่องบรรลุโสดา ในที่นี้หมายถึงคุณสมบัติของพระโสดาบัน (สํ.ม.อ. 3/478/308)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :486 }