เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 3.สัตตาวาสวรรค 5.ปัญญาสูตร
5. ปัญญาสูตร
ว่าด้วยภิกษุผู้อบรมจิตดีด้วยปัญญา
[25] ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด ภิกษุอบรมจิตดีด้วยปัญญา เมื่อนั้น ภิกษุนั้น
ควรกล่าวดังนี้ว่า ‘เรารู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำ
เสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’
ภิกษุอบรมจิตดีด้วยปัญญา เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุอบรมจิตดีด้วยปัญญาว่า
1. จิตของเราปราศจากราคะแล้ว
2. จิตของเราปราศจากโทสะแล้ว
3. จิตของเราปราศจากโมหะแล้ว
4. จิตของเราไม่มีราคะเป็นธรรมดา
5. จิตของเราไม่มีโทสะเป็นธรรมดา
6. จิตของเราไม่มีโมหะเป็นธรรมดา
7. จิตของเราไม่กลับมาในกามภพเป็นธรรมดา
8. จิตของเราไม่กลับมาในรูปภพเป็นธรรมดา
9. จิตของเราไม่กลับมาในอรูปภพเป็นธรรมดา
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใด ภิกษุอบรมจิตดีด้วยปัญญา เมื่อนั้น ภิกษุนั้นควรกล่าว
ดังนี้ว่า ‘เรารู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว
ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’

ปัญญาสูตรที่ 5 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :483 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 3.สัตตาวาสวรรค 6.สิลายูปสูตร
6. สิลายูปสูตร
ว่าด้วยจิตเปรียบด้วยเสาหิน
[26] สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตร และท่านพระจันทิกาบุตร อยู่ ณ
พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน1 เขตกรุงราชคฤห์ ณ ที่นั้นแล ท่านพระจันทิกาบุตร
กล่าวกับภิกษุทั้งหลายว่า “ผู้มีอายุทั้งหลาย พระเทวทัตแสดงธรรมแก่ภิกษุ
ทั้งหลายอย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อใด ภิกษุอบรมจิตด้วยจิต เมื่อนั้น ภิกษุนั้น
ควรพยากรณ์ดังนี้ว่า ‘เรารู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควร
ทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป”
เมื่อท่านพระจันทิกาบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวกับท่าน
พระจันทิกาบุตรดังนี้ว่า “ท่านจันทิกาบุตร พระเทวทัตไม่แสดงธรรมแก่ภิกษุ
ทั้งหลายอย่างนี้ว่า ‘เมื่อใด ภิกษุอบรมจิตด้วยจิต เมื่อนั้น ภิกษุนั้นควรพยากรณ์
ดังนี้ว่า ‘เรารู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว
ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’ แต่พระเทวทัตแสดงธรรมแก่ภิกษุ
ทั้งหลายอย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อใด ภิกษุอบรมจิตดีด้วยจิต เมื่อนั้น
ภิกษุนั้นควรพยากรณ์ดังนี้ว่า ‘เรารู้ชัดว่า ‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป’
แม้ครั้งที่ 2 ฯลฯ
แม้ครั้งที่ 3 ท่านพระจันทิกาบุตรก็กล่าวกับภิกษุทั้งหลายว่า “ผู้มีอายุ
ทั้งหลาย พระเทวทัตแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุทั้งหลาย เมื่อใด
ภิกษุอบรมจิตด้วยจิต เมื่อนั้น ภิกษุนั้นควรพยากรณ์ดังนี้ว่า ‘เรารู้ชัดว่า ‘ชาติ
สิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความ
เป็นอย่างนี้อีกต่อไป”

เชิงอรรถ :
1 กลันทกนิวาปสถาน หมายถึงสถานที่สำหรับพระราชทานเหยื่อแก่กระแต (ดูรายละเอียดใน ม.มู.อ.
2/252/41-42, G.P. MALALAKERA, Dictionary of Pali : Proper Names, London, Luzac
Company Ltd. 46 Great Russell Street, 1960.)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :484 }