เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 3.สัตตาวาสวรรค 2.อัสสขฬุงกสูตร
ภิกษุทั้งหลาย มนุษย์ชาวชมพูทวีปเหนือกว่ามนุษย์ชาวอุตตรกุรุทวีปและ
เทวดาชั้นดาวดึงส์ ด้วยฐานะ 3 ประการ
ฐานะ 3 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. เป็นผู้แกล้วกล้า
2. เป็นผู้มีสติ1
3. เป็นผู้อยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในชมพูทวีปนี้2
ภิกษุทั้งหลาย มนุษย์ชาวชมพูทวีปเหนือกว่ามนุษย์ชาวอุตตรกุรุทวีปและ
เทวดาชั้นดาวดึงส์ ด้วยฐานะ 3 ประการนี้แล
ติฐานสูตรที่ 1 จบ

2. อัสสขฬุงกสูตร3
ว่าด้วยม้ากระจอกและคนกระจอก
[22] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงม้ากระจอก 3 จำพวก คนกระจอก 3
จำพวก ม้าดี 3 จำพวก และคนดี 3 จำพวก ม้าอาชาไนย4พันธุ์ดี 3 จำพวก
และบุรุษอาชาไนยผู้เจริญ 3 จำพวก เธอทั้งหลายจงฟังเรื่องนั้น
ม้ากระจอก 3 จำพวกไหนบ้าง คือ
1. ม้ากระจอกบางตัวในโลกนี้สมบูรณ์ด้วยเชาว์ แต่ไม่สมบูรณ์ด้วยวรรณะ
ไม่สมบูรณ์ด้วยความสูงและความใหญ่

เชิงอรรถ :
1 มีสติ ในที่นี้หมายถึงมีสติมั่นคง เพราะมนุษย์มีทั้งสุขและทุกข์คละเคล้ากัน ซึ่งต่างจากเทวดาและสัตว์นรก
ที่มีสติไม่มั่นคง เพราะเทวดามีแต่สุขอย่างเดียว และสัตว์นรกมีแต่ทุกข์อย่างเดียว (องฺ.นวก.อ. 3/21/303)
2 เพราะพระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้าอุบัติในชมพูทวีป จึงมีการประพฤติพรหมจรรย์คืออริยมรรค
มีองค์ 8 (องฺ.นวก.อ. 3/21/303) และดู อภิ.ก. 37/271/95
3 ดู องฺ.ติก. (แปล) 20/141-143/387-392 (อัสสขฬุงกสูตร อัสสสทัสสสูตร)
4 ม้าอาชาไนย ในที่นี้หมายถึงม้าที่เกิดในตระกูลม้าสินธพ หรือในตระกูลพญาม้าวลาหก (ขุ.ธ.อ. 154/105)
หรือ หมายถึงม้าที่รู้เหตุที่ควรและไม่ควร (องฺ.ติก.อ. 2/143/273) และดู องฺ.ติก. (แปล) 20/97/330

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :476 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 3.สัตตาวาสวรรค 2.อัสสขฬุงกสูตร
2. ม้ากระจอกบางตัวในโลกนี้สมบูรณ์ด้วยเชาว์ และสมบูรณ์ด้วยวรรณะ
แต่ไม่สมบูรณ์ด้วยความสูงและความใหญ่
3. ม้ากระจอกบางตัวในโลกนี้สมบูรณ์ด้วยเชาว์ สมบูรณ์ด้วยวรรณะ
และสมบูรณ์ด้วยความสูงและความใหญ่
ภิกษุทั้งหลาย ม้ากระจอก 3 จำพวกนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย คนกระจอก 3 จำพวกไหนบ้าง คือ
1. คนกระจอกบางคนในโลกนี้สมบูรณ์ด้วยเชาว์1 แต่ไม่สมบูรณ์ด้วย
วรรณะ2 ไม่สมบูรณ์ด้วยความสูงและความใหญ่
2. คนกระจอกบางคนในโลกนี้สมบูรณ์ด้วยเชาว์ และสมบูรณ์ด้วยวรรณะ
แต่ไม่สมบูรณ์ด้วยความสูงและความใหญ่
3. คนกระจอกบางคนในโลกนี้สมบูรณ์ด้วยเชาว์ สมบูรณ์ด้วยวรรณะ
และสมบูรณ์ด้วยความสูงและความใหญ่
คนกระจอกสมบูรณ์ด้วยเชาว์ แต่ไม่สมบูรณ์ด้วยวรรณะ ไม่สมบูรณ์ด้วย
ความสูงและความใหญ่ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย
นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา’ เรากล่าวว่า นี้เป็นเชาว์ของเขา แต่เขาถูก
ถามปัญหาในอภิธรรมและอภิวินัย ก็จนปัญญา ตอบไม่ได้ เรากล่าวว่า นี้ไม่ใช่
วรรณะของเขา และเขาไม่ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย-
เภสัชชบริขาร เรากล่าวว่า นี้ไม่ใช่ความสูงและความใหญ่ของเขา
ภิกษุทั้งหลาย คนกระจอกสมบูรณ์ด้วยเชาว์ แต่ไม่สมบูรณ์ด้วยวรรณะ
ไม่สมบูรณ์ด้วยความสูงและความใหญ่ เป็นอย่างนี้แล

เชิงอรรถ :
1 เชาว์ของม้า หมายถึงกำลังวิ่งหรือความมีฝีเท้าเร็ว (ปทชวะ) เชาว์ของคน หมายถึงกำลังวิ่งหรือหมายถึง
ญาณคือความหยั่งรู้อริยสัจ 4 เป็นต้น (องฺ.ติก.อ. 2/141/273, องฺ.นวก.อ. 3/22/304)
2 วรรณะของม้า หมายถึงสีสันแห่งสรีระ วรรณะของคน หมายถึงคุณ คือความมีปฏิภาณในการโต้ตอบแก้
ปัญหาในเรื่องอภิธรรม อภิวินัย ไม่จนปัญญา (องฺ.ติก.อ. 2/141/273, องฺ.นวก.อ. 3/22/304)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :477 }