เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 2.สีหนาทวรรค 9.เทวตาสูตร
เหล่านั้นทำหน้าที่ยังไม่บริบูรณ์ มีความร้อนใจ เดือดร้อนใจในภายหลัง จึงเกิดใน
หมู่เทพชั้นต่ำ’
เทวดาจำนวนมากอีกพวกหนึ่งเข้ามาหาเราแล้วกล่าวดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ บรรพชิตทั้งหลายเข้ามายังเรือนของข้าพระองค์ทั้งหลายผู้เคยเป็นมนุษย์
ข้าพระองค์เหล่านั้นได้ลุกรับ กราบไหว้ และให้อาสนะ แต่ไม่ได้แบ่งปันของให้ตาม
ความสามารถ ตามกำลัง ฯลฯ แบ่งปันของให้ตามความสามารถ ตามกำลัง แต่ไม่
นั่งใกล้เพื่อฟังธรรม ฯลฯ นั่งใกล้เพื่อฟังธรรม แต่ไม่เงี่ยโสตฟังธรรม ฯลฯ เงี่ยโสต
ฟังธรรม แต่ฟังแล้วก็ไม่ทรงจำธรรมไว้ได้ ฯลฯ ฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ได้ แต่ไม่
พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ ฯลฯ พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำ
ไว้ได้ แต่หารู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรมไม่ ข้าพระองค์เหล่านั้น
ทำหน้าที่ยังไม่บริบูรณ์ มีความร้อนใจ เดือดร้อนใจในภายหลัง จึงเกิดในหมู่เทพชั้นต่ำ’
เทวดาจำนวนมากอีกพวกหนึ่งเข้ามาหาเราแล้วกล่าวดังนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ บรรพชิตทั้งหลายเข้ามายังเรือนของข้าพระองค์ทั้งหลายผู้เคยเป็นมนุษย์
ข้าพระองค์เหล่านั้นได้ลุกรับ กราบไหว้ ให้อาสนะ แบ่งปันของให้ตามความสามารถ
ตามกำลัง นั่งใกล้เพื่อฟังธรรม เงี่ยโสตฟังธรรม ฟังแล้วทรงจำธรรมไว้ได้ พิจารณา
เนื้อความแห่งธรรมที่ทรงจำไว้ได้ และรู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม’
ข้าพระองค์เหล่านั้นทำหน้าที่บริบูรณ์แล้ว ไม่มีความร้อนใจ ไม่เดือดร้อนใจใน
ภายหลัง จึงเกิดในหมู่เทพชั้นประณีต’
ภิกษุทั้งหลาย นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง1 เธอทั้งหลายจงเพ่ง อย่าประมาท
อย่าเป็นผู้มีวิปปฏิสาร(ความร้อนใจ) ในภายหลังเหมือนเทวดาพวกแรก ๆ เหล่านั้นเลย

เทวตาสูตรที่ 9 จบ


เชิงอรรถ :
1 ดูเชิงอรรถที่ 1,2 สัตตกนิบาต ข้อ 74 หน้า 170 ในเล่มนี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :469 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 2.สีหนาทวรรค 10.เวลามสูตร
10. เวลามสูตร
ว่าด้วยเวลามพราหมณ์
[20] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล อนาถบิณฑิกเศรษฐีเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาค
ได้ตรัสกับท่านดังนี้ว่า “ท่านคหบดี ในตระกูลของท่านยังให้ทานอยู่หรือ”
อนาถบิณฑิกคหบดีกราบทูลว่า “ในตระกูลของข้าพระองค์ยังให้ทานอยู่
พระพุทธเจ้าข้า แต่ทานนั้นแลเป็นของเศร้าหมอง เป็นปลายข้าวกับน้ำผักดอง”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “คหบดี บุคคลให้ทานเศร้าหมอง หรือประณีตก็ตาม
ถ้าให้ทานนั้นโดยไม่เคารพ ไม่ทำความนอบน้อมให้ทาน ไม่ให้ด้วยมือของตนเอง
ให้ทานเหมือนจะทิ้ง1 เป็นผู้ไม่เห็นผลที่จะตามมาให้ทาน2 ในตระกูลที่ทานนั้น ๆ
บังเกิดผล เขาไม่น้อมจิตไปเพื่อบริโภคอาหารอย่างดี ไม่น้อมจิตไปเพื่อนุ่งห่มผ้า
อย่างดี ไม่น้อมจิตไปเพื่อใช้ยานอย่างดี และไม่น้อมจิตไปเพื่อบริโภคกามคุณ3 5
อย่างดี แม้แต่บริวารของผู้ให้ทานนั้น คือ บุตร ภรรยา ทาส คนใช้ หรือกรรมกร
ก็ไม่ตั้งใจฟังด้วยดี ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งใจใฝ่รู้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผลกรรม
ที่ตนได้กระทำโดยไม่เคารพ

เชิงอรรถ :
1 ให้ทานเหมือนจะทิ้ง ในที่นี้หมายถึงไม่ให้ทานอย่างต่อเนื่อง ให้ทานเหมือนต้องการจะทิ้ง (องฺ.นวก.อ.
3/20/297)
2 ไม่เห็นผลที่จะตามมาให้ทานในที่นี้หมายถึงไม่เชื่อกรรมและผลกรรมแต่ก็ให้ทาน (องฺ.นวก.อ. 3/20/297)
3 กามคุณ แยกอธิบายว่า ที่ชื่อว่า กาม เพราะมีความหมายว่าเป็นสิ่งที่บุคคลพึงใคร่ ที่ชื่อว่า คุณ เพราะมี
ความหมายว่าผูกพันไว้ ร้อยรัดไว้ ดุจคำว่า “อนฺตํ อนฺตคุณํ” แปลว่า “ไส้ใหญ่ ไส้เล็ก” ดู ที.ม. 10/377/
251, ม.มู. 12/110/79, ขุ.ขุ. 25/3/2, และดุจคำว่า “กยิรา มาลาคุเณ พหู” แปลว่า “ช่างดอกไม้พึง
ร้อยพวงมาลัยไว้เป็นจำนวนมาก” ดู ขุ.ธ. 25/53/26 (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/63/148)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :470 }