เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 2.สีหนาทวรรค 1.สีหนาทสูตร
7. โคผู้เขาหัก สงบเสงี่ยม ได้รับการฝึกมาดี ได้รับการแนะนำมาดี
ให้สำเหนียกดี เดินไปตามถนนหนทาง ตามทางแยกน้อยใหญ่ ไม่ดีด
หรือขวิดใคร ๆ แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีใจเสมอ
ด้วยโคผู้เขาหัก ไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร
ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุใดไม่ตั้งมั่น
กายคตาสติไว้ในกาย ภิกษุนั้นกระทบเพื่อนพรหมจารีรูปใดรูปหนึ่ง
ในพระธรรมวินัยนี้แล้ว ไม่ขอโทษ พึงจาริกไป
8. สตรีหรือบุรุษที่ยังหนุ่มสาว มีปกติชอบแต่งตัว สรงน้ำดำหัวแล้ว
พึงอึดอัด ระอา หรือรังเกียจซากงู ซากสุนัข หรือซากมนุษย์ที่
คล้องคอไว้ แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมอึดอัด
ระอา รังเกียจกายอันเปื่อยเน่านี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุใด
ไม่ตั้งมั่นกายคตาสติไว้ในกาย ภิกษุนั้นกระทบเพื่อนพรหมจารีรูปใด
รูปหนึ่งในพระธรรมวินัยนี้แล้ว ไม่ขอโทษ พึงจาริกไป
9. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษประคองถาดมันข้นที่มีช่องน้อยใหญ่
น้ำไหลออกได้ข้างบน ไหลออกได้ข้างล่าง แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็
ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมบริหารกายนี้ที่มีช่องน้อยช่องใหญ่1 ไหลเข้า
ไหลออกอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุใดไม่ตั้งมั่นกายคตาสติไว้
ในกาย ภิกษุนั้นกระทบเพื่อนพรหมจารีรูปใดรูปหนึ่งในพระธรรมวินัย
นี้แล้ว ไม่ขอโทษ พึงจาริกไป
ลำดับนั้น ภิกษุรูปนั้นลุกจากอาสนะ ห่มจีวรเฉวียงบ่า หมอบลงแทบพระบาท
ของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้าแล้ว กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ โทษได้มาถึงข้าพระองค์ผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลง เป็นคนไม่ฉลาด
ที่ได้กล่าวตู่ท่านพระสารีบุตรด้วยคำที่ไม่มีอยู่ เปล่าประโยชน์ เป็นเรื่องเท็จ ไม่เป็นจริง
ขอพระผู้มีพระภาคโปรดอดโทษแก่ข้าพระองค์เพื่อความสำรวมต่อไปเถิด”

เชิงอรรถ :
1 ช่องน้อยช่องใหญ่ ในที่นี้หมายถึงปากแผลทั้ง 9 (ทวาร 9 คือ ช่องตาทั้งสอง ช่องหูทั้งสอง ช่องจมูก
ทั้งสอง ช่องปาก ทวารหนัก ทวารเบา) (องฺ.นวก.อ. 3/11/293)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :454 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 2.สีหนาทวรรค 2.สอุปาทิเสสสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โทษได้มาถึงเธอผู้เป็นคนพาล เป็นคนหลง เป็นคน
ไม่ฉลาด ที่เธอได้กล่าวตู่สารีบุตรด้วยคำที่ไม่มีอยู่ เปล่าประโยชน์ เป็นเรื่องเท็จ
ไม่เป็นจริง แต่เพราะเธอเห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้วทำคืนตามธรรม เราย่อม
อดโทษนั้นแก่เธอ ข้อที่ภิกษุเห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้วทำคืนตามธรรม ถึงความ
สำรวมต่อไป นี้เป็นความเจริญในอริยวินัย”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระสารีบุตรดังนี้ว่า “สารีบุตร เธอจง
อดโทษให้แก่โมฆบุรุษผู้นี้เถิด ก่อนที่ศีรษะของเขาจะแตกเป็น 7 เสี่ยง เพราะโทษ
นั้นนั่นเอง”
ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จะอดโทษ
แก่ท่านรูปนั้น ถ้าท่านรูปนั้นได้กล่าวกับข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ‘ขอท่านผู้มีอายุนั้น
จงอดโทษแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด”
สีหนาทสูตรที่ 1 จบ

2. สอุปาทิเสสสูตร
ว่าด้วยสอุปาทิเสสบุคคล
[12] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้นเวลาเช้า ท่านพระสารีบุตร ครองอันตรวาสก
ถือบาตรและจีวร เข้าไปยังกรุงสาวัตถี เพื่อบิณฑบาต ต่อมา ท่านพระสารีบุตร
ได้มีความคิดดังนี้ว่า “การเที่ยวไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถียังเช้านัก ทางที่ดี เราควร
เข้าไปยังอารามของพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก” ครั้นแล้ว ท่านพระสารีบุตรจึงเข้าไป
ยังอารามของพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชก ได้สนทนาปราศรัยกับอัญเดียรถีย์ปริพาชก
เหล่านั้น พอเป็นที่บันเทิงใจพอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
สมัยนั้นเอง อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น กำลังนั่งประชุมสนทนากันดังนี้ว่า
“ผู้มีอายุทั้งหลาย บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นสอุปาทิเสส1(ยังมีอุปาทิเหลือ) เมื่อตายไป
ล้วนไม่พ้นจากนรก ไม่พ้นจากกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ไม่พ้นจากเปรตวิสัย ไม่พ้นจาก
อบาย ทุคติ และวินิบาต


เชิงอรรถ :
1สอุปาทิเสส ในที่นี้หมายถึงมีอุปาทานเหลืออยู่ (องฺ.นวก.อ. 3/12/293)


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :455 }