เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 2.สีหนาทวรรค 1.สีหนาทสูตร
2. สีหนาทวรรค
หมวดว่าด้วยการบันลือสีหนาท
1. สีหนาทสูตร
ว่าด้วยการบันลือสีหนาท
[11] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตรเข้าไปเฝ้าพระ
ผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จำพรรษาอยู่ในกรุงสาวัตถีแล้ว ปรารถนา
จะจาริกไปในชนบท”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “สารีบุตร เธอจงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด”
ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรลุกจากที่นั่ง ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค
ทำประทักษิณแล้วจากไป
ครั้งนั้นแล เมื่อท่านพระสารีบุตรจากไปแล้วไม่นาน ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระสารีบุตรกระทบข้าพระองค์
แล้ว ไม่ขอโทษ ก็จาริกไป”
ต่อมา พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุรูปหนึ่งมาตรัสว่า “ภิกษุ เธอจงมา
จงไปเรียกสารีบุตรตามคำของเราว่า ‘ท่านสารีบุตร พระศาสดาเรียกท่าน” ภิกษุนั้น
ทูลสนองรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคแล้วเข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ ได้กล่าว
กับท่านพระสารีบุตรดังนี้ว่า “ท่านสารีบุตร พระศาสดารับสั่งเรียกท่าน” ท่านพระ
สารีบุตรรับคำแล้ว
สมัยนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะและท่านพระอานนท์ถือลูกกุญแจเที่ยว
ประกาศไปในวิหารว่า “ออกไปเถิด ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ออกไปเถิด ท่านผู้มีอายุ
ทั้งหลาย บัดนี้ ท่านพระสารีบุตรจักบันลือสีหนาทต่อพระพักตร์พระผู้มีพระภาค”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :451 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 2.สีหนาทวรรค 1.สีหนาทสูตร
ครั้นท่านพระสารีบุตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกับท่านพระสารีบุตรว่า “สารีบุตร
เพื่อนพรหมจารีรูปหนึ่งในธรรมวินัยนี้กล่าวหาเธอว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระ
สารีบุตรกระทบข้าพระองค์แล้ว ไม่ขอโทษ ก็จาริกไป”
ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุใดไม่ตั้งมั่นกาย-
คตาสติ(สติไปในกาย)ไว้ในกาย ภิกษุนั้นกระทบเพื่อนพรหมจารีรูปใดรูปหนึ่งใน
ธรรมวินัยนี้แล้ว ไม่ขอโทษ ก็พึงจาริกไป
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
1. ชนทั้งหลายย่อมทิ้งของสะอาดบ้าง ทิ้งของไม่สะอาดบ้าง ทิ้งคูถบ้าง
ทิ้งมูตรบ้าง ทิ้งน้ำลายบ้าง ทิ้งหนองบ้าง ทิ้งเลือดบ้าง ลงบน
แผ่นดิน แต่แผ่นดินก็ไม่อึดอัด ระอา หรือรังเกียจสิ่งนั้น
แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีใจเสมอด้วยแผ่นดิน
ไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ1 ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความ
เบียดเบียนอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุใดไม่ตั้งมั่นกายคตาสติ
ไว้ในกาย ภิกษุนั้นกระทบเพื่อนพรหมจารีรูปใดรูปหนึ่งในพระธรรม-
วินัยนี้แล้ว ไม่ขอโทษ พึงจาริกไป
2. ชนทั้งหลายย่อมล้างของสะอาดบ้าง ล้างของไม่สะอาดบ้าง ล้างคูถ
บ้าง ล้างมูตรบ้าง ล้างน้ำลายบ้าง ล้างหนองบ้าง ล้างเลือดบ้าง
ในน้ำ แต่น้ำก็ไม่อึดอัด ระอา หรือรังเกียจสิ่งนั้น แม้ฉันใด
ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีใจเสมอด้วยน้ำ ไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ
ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ภิกษุใดไม่ตั้งมั่นกายคตาสติไว้ในกาย ภิกษุนั้นกระทบเพื่อนพรหมจารี
รูปใดรูปหนึ่งในพระธรรมวินัยนี้แล้ว ไม่ขอโทษ พึงจาริกไป
3. ไฟย่อมไหม้ของสะอาดบ้าง ไหม้ของไม่สะอาดบ้าง ไหม้คูถบ้าง
ไหม้มูตรบ้าง ไหม้น้ำลายบ้าง ไหม้หนองบ้าง ไหม้เลือดบ้าง แต่ไฟก็

เชิงอรรถ :
1 มหัคคตะ แปลว่าถึงความเป็นใหญ่ กล่าวคือเป็นรูปาวจรกุศลและอรูปาวจรกุศล เพราะสามารถข่มกิเลสได้
หรือดำเนินไปด้วยฉันทะ วิริยะ จิตตะและปัญญาที่กว้างขวาง (ขุ.ป.อ. 1/104/366, อภิ.สงฺ.อ. 12/92)
และดู อภิ.สงฺ. (แปล) 34/160-268/57-85

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :452 }