เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 1.สัมโพธิวรรค 4.นันทกสูตร
ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังได้ข้อนี้ คือ จักเป็นผู้ปรารภ
ความเพียร ฯลฯ ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย
ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังได้ข้อนี้ คือ จักเป็นผู้มีปัญญา ฯลฯ
ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
เมฆิยะ ภิกษุนั้นดำรงอยู่ในธรรม 5 ประการนี้แล้ว พึงเจริญธรรม 4 ประการ
ให้ยิ่งขึ้นไป คือ
1. พึงเจริญอสุภะเพื่อละราคะ
2. พึงเจริญเมตตาเพื่อละพยาบาท
3. พึงเจริญอานาปานสติเพื่อตัดวิตก
4. พึงเจริญอนิจจสัญญาเพื่อถอนอัสมิมานะ
เมฆิยะ อนัตตสัญญาย่อมปรากฏแก่ภิกษุผู้ได้อนิจจสัญญา ภิกษุผู้ได้อนัตตสัญญา
ย่อมบรรลุนิพพานที่ถอนอัสมิมานะได้ในปัจจุบัน”
เมฆิยสูตรที่ 3 จบ

4. นันทกสูตร
ว่าด้วยพระนันทกะแสดงธรรม
[4] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระนันทกะชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลาย
เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจ
ให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาในหอฉัน
ครั้นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น เข้าไปยังหอฉัน
ได้ประทับยืนรอที่ซุ้มประตูด้านนอกจนจบกถา ทรงทราบว่าจบกถาแล้ว ทรงกระแอม
แล้วเคาะที่บานประตู ภิกษุเหล่านั้นเปิดประตูถวายพระผู้มีพระภาคแล้ว
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังหอฉัน ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้
ตรัสกับท่านพระนันทกะดังนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :434 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 1.สัมโพธิวรรค 4.นันทกสูตร
“นันทกะ ธรรมบรรยาย1ที่เธอแสดงแก่ภิกษุทั้งหลายนี้ยาวจริงนะ แม้เราคอย
ฟังอยู่ที่ซุ้มประตูด้านนอกจนจบกถา ก็ยังรู้สึกเมื่อยหลัง”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระนันทกะรู้สึกกระดากใจ ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่ทราบเลยว่า ‘พระผู้มี
พระภาคประทับยืนรอที่ซุ้มประตูด้านนอก ถ้าข้าพระองค์รู้ ก็จะแสดงไม่ได้ถึงเพียงนี้”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่าท่านพระนันทกะกำลังกระดากใจ จึง
ตรัสกับท่านดังนี้ว่า “ดีละ ดีละ นันทกะ การที่เธอทั้งหลายผู้เป็นกุลบุตรออกจาก
เรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา นั่งประชุมกันทำกิจ 2 อย่าง คือ ธรรมีกถา
หรือความเป็นผู้นิ่งอย่างพระอริยะ นันทกะ ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา แต่ไม่มีศีล เธอชื่อ
ว่าเป็นผู้ไม่บริบูรณ์ด้วยองค์นั้นอย่างนี้ เธอพึงบำเพ็ญองค์นั้นให้บริบูรณ์ด้วยคิดว่า
‘ทางที่ดี เราควรเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล’ เมื่อใด ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธาและมีศีล
เมื่อนั้น เธอจึงชื่อว่าเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยองค์นั้นอย่างนี้
ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธาและมีศีล แต่ไม่ได้เจโตสมาธิภายใน เธอชื่อว่าเป็นผู้ไม่
บริบูรณ์ด้วยองค์นั้นอย่างนี้ เธอพึงบำเพ็ญองค์นั้นให้บริบูรณ์ด้วยคิดว่า ‘ทางที่ดี
เราควรเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล และได้เจโตสมาธิภายใน’ เมื่อใด ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา
มีศีล และได้เจโตสมาธิภายใน เมื่อนั้น เธอจึงชื่อว่าเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยองค์นั้นอย่างนี้
ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล และได้เจโตสมาธิภายใน แต่ไม่ได้ความเห็นแจ้งธรรม
ด้วยปัญญาอันยิ่ง เธอชื่อว่าเป็นผู้ไม่บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น อย่างนี้ นันทกะ สัตว์สี่เท้า
แต่เท้าข้างหนึ่งของมันบกพร่องพิการ มันชื่อว่าเป็นผู้ไม่บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น อย่างนี้
แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้มีศรัทธา มีศีล และได้เจโตสมาธิภายใน
แต่ไม่ได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง เธอชื่อว่าเป็นผู้ไม่บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น
อย่างนี้ เธอพึงบำเพ็ญองค์นั้นให้บริบูรณ์ด้วยคิดว่า ‘ทางที่ดี เราควรเป็นผู้มีศรัทธา
มีศีล ได้เจโตสมาธิภายใน และได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง’ เมื่อใด
ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล ได้เจโตสมาธิภายใน และได้ความเห็นแจ้งธรรมด้วย
ปัญญาอันยิ่ง เมื่อนั้น เธอจึงชื่อว่าเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยองค์นั้นอย่างนี้”



เชิงอรรถ :
1 ดูเชิงอรรถที่ 1 สัตตกนิบาตข้อ 51 หน้า 85 ในเล่มนี้


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :435 }