เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 1.สัมโพธิวรรค 3.เมฆิยสูตร
ธรรม 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี นี้เป็นธรรม
ประการที่ 1 ที่เป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุตติที่ยังไม่แก่กล้า
2. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์
เพียบพร้อมด้วยอาจาระและโคจรอยู่ มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย
สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย นี้เป็นธรรมประการที่ 2
ที่เป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุตติที่ยังไม่แก่กล้า
3. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ได้กถาเป็นเครื่องขัดเกลาอย่างยิ่ง ที่เป็น
สัปปายะแห่งความเป็นไปของจิต คือ อัปปิจฉกถา สันตุฏฐิกถา
ปวิเวกกถา อสังสัคคกถา วิริยารัมภกถา สีลกถา สมาธิกถา
ปัญญากถา วิมุตติกถา วิมุตติญาณทัสสนกถา ตามความปรารถนา
ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก นี้เป็นธรรมประการที่ 3 ที่เป็นไป
เพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุตติที่ยังไม่แก่กล้า
4. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อ
ให้กุศลธรรมเกิด เป็นผู้มีความเข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคง
ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย นี้เป็นธรรมประการที่ 4 ที่เป็นไป
เพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุตติที่ยังไม่แก่กล้า
5. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญาเป็น
เครื่องพิจารณาเห็นทั้งความเกิดและความดับอันเป็นอริยะ ชำแรก
กิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี้เป็นธรรมประการที่ 5 ที่เป็นไป
เพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุตติที่ยังไม่แก่กล้า
ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังได้ข้อนี้ คือ จักเป็นผู้มีศีล ฯลฯ
สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังได้ข้อนี้ คือ จักเป็นผู้ได้กถา
เป็นเครื่องขัดเกลาอย่างยิ่ง ที่เป็นสัปปายะแห่งความเป็นไปของจิต คือ อัปปิจฉกถา
ฯลฯ วิมุตติญาณทัสสนกถา ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :433 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 1.สัมโพธิวรรค 4.นันทกสูตร
ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังได้ข้อนี้ คือ จักเป็นผู้ปรารภ
ความเพียร ฯลฯ ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย
ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังได้ข้อนี้ คือ จักเป็นผู้มีปัญญา ฯลฯ
ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
เมฆิยะ ภิกษุนั้นดำรงอยู่ในธรรม 5 ประการนี้แล้ว พึงเจริญธรรม 4 ประการ
ให้ยิ่งขึ้นไป คือ
1. พึงเจริญอสุภะเพื่อละราคะ
2. พึงเจริญเมตตาเพื่อละพยาบาท
3. พึงเจริญอานาปานสติเพื่อตัดวิตก
4. พึงเจริญอนิจจสัญญาเพื่อถอนอัสมิมานะ
เมฆิยะ อนัตตสัญญาย่อมปรากฏแก่ภิกษุผู้ได้อนิจจสัญญา ภิกษุผู้ได้อนัตตสัญญา
ย่อมบรรลุนิพพานที่ถอนอัสมิมานะได้ในปัจจุบัน”
เมฆิยสูตรที่ 3 จบ

4. นันทกสูตร
ว่าด้วยพระนันทกะแสดงธรรม
[4] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระนันทกะชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลาย
เห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบชโลมใจ
ให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาในหอฉัน
ครั้นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น เข้าไปยังหอฉัน
ได้ประทับยืนรอที่ซุ้มประตูด้านนอกจนจบกถา ทรงทราบว่าจบกถาแล้ว ทรงกระแอม
แล้วเคาะที่บานประตู ภิกษุเหล่านั้นเปิดประตูถวายพระผู้มีพระภาคแล้ว
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังหอฉัน ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้
ตรัสกับท่านพระนันทกะดังนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :434 }