เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 1.สัมโพธิวรรค 3.เมฆิยสูตร
ธรรม 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี นี้เป็นธรรม
ประการที่ 1 ที่เป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุตติที่ยังไม่แก่กล้า
2. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์
เพียบพร้อมด้วยอาจาระและโคจรอยู่ มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย
สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย นี้เป็นธรรมประการที่ 2
ที่เป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุตติที่ยังไม่แก่กล้า
3. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ได้กถาเป็นเครื่องขัดเกลาอย่างยิ่ง ที่เป็น
สัปปายะแห่งความเป็นไปของจิต คือ อัปปิจฉกถา สันตุฏฐิกถา
ปวิเวกกถา อสังสัคคกถา วิริยารัมภกถา สีลกถา สมาธิกถา
ปัญญากถา วิมุตติกถา วิมุตติญาณทัสสนกถา ตามความปรารถนา
ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก นี้เป็นธรรมประการที่ 3 ที่เป็นไป
เพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุตติที่ยังไม่แก่กล้า
4. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อ
ให้กุศลธรรมเกิด เป็นผู้มีความเข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคง
ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย นี้เป็นธรรมประการที่ 4 ที่เป็นไป
เพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุตติที่ยังไม่แก่กล้า
5. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญาเป็น
เครื่องพิจารณาเห็นทั้งความเกิดและความดับอันเป็นอริยะ ชำแรก
กิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี้เป็นธรรมประการที่ 5 ที่เป็นไป
เพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุตติที่ยังไม่แก่กล้า
ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังได้ข้อนี้ คือ จักเป็นผู้มีศีล ฯลฯ
สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังได้ข้อนี้ คือ จักเป็นผู้ได้กถา
เป็นเครื่องขัดเกลาอย่างยิ่ง ที่เป็นสัปปายะแห่งความเป็นไปของจิต คือ อัปปิจฉกถา
ฯลฯ วิมุตติญาณทัสสนกถา ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :433 }