เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 1.สัมโพธิวรรค 3.เมฆิยสูตร
ต่อมา ท่านพระเมฆิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ขอประทานวโรกาส เมื่อเช้านี้ ข้าพระองค์ครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร
เข้าไปยังชันตุคามเพื่อบิณฑบาต กลับจากบิณฑบาต ภายหลังฉันอาหารเสร็จแล้ว
เดินไปตามฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬา ขณะที่เที่ยวเดินพักผ่อนอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬา ได้เห็น
ป่ามะม่วงที่งดงาม น่ารื่นรมย์ จึงมีความคิดดังนี้ว่า ‘ป่ามะม่วงนี้ช่างงดงาม น่า
รื่นรมย์จริง เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรสำหรับกุลบุตรผู้ต้องการบำเพ็ญเพียรโดยแท้
ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตเรา เราจะกลับมาบำเพ็ญเพียรในป่ามะม่วงนี้’
ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตข้าพระองค์ ข้าพระองค์จะกลับไปบำเพ็ญเพียรในป่า
มะม่วงนั้น”
เมื่อท่านพระเมฆิยะกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสกับท่านดัง
นี้ว่า “เมฆิยะ เราอยู่คนเดียว เธอจงรอจนกว่าภิกษุรูปอื่นจะมา”1
แม้ครั้งที่ 2 ท่านพระเมฆิยะก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคไม่ทรงมีกิจที่จะต้องทำให้ยิ่งขึ้นไปอีก2 ทั้งไม่มีการ
สั่งสมกิจที่ทำแล้ว3 ส่วนข้าพระองค์ยังมีกิจที่จะต้องทำให้ยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งยังต้องสั่งสม
กิจที่ทำแล้ว ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตข้าพระองค์ ข้าพระองค์จะกลับไป
บำเพ็ญเพียรในป่ามะม่วงนั้น”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เมฆิยะ เราอยู่คนเดียว เธอจงรอจนกว่าภิกษุรูปอื่น
จะมา”

เชิงอรรถ :
1 นัยว่าพระดำรัสนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสด้วยพระประสงค์ที่จะประวิงเวลารอให้จิตของท่านพระเมฆิยะอ่อน
โยนเหมาะแก่การบำเพ็ญเพียร (องฺ.นวก.อ. 3/3/287)
2 ไม่มีกิจที่จะต้องทำให้ยิ่งขึ้นไปอีก ในที่นี้หมายถึงไม่มีกิจ 4 อย่างในอริยสัจ 4 ประการ กิจ 4 อย่างนั้น
คือ ปริญญากิจ (หน้าที่กำหนดรู้ทุกข์) ปหานกิจ (หน้าที่ละเหตุเกิดทุกข์) สัจฉิกิริยากิจ (หน้าที่ทำให้แจ้ง
ความดับทุกข์) และภาวนากิจ (หน้าที่อบรมมรรคมีองค์ 8 ให้เจริญ) (องฺ.นวก.อ. 3/3/287, องฺ.ฉกฺก.ฏีกา
3/49/141, ที.สี.อ. 1/248/203)
3 ไม่มีการสั่งสมกิจที่ทำแล้ว ในที่นี้หมายถึงไม่ต้องเพิ่มพูนกุศลธรรมและอกุศลธรรมที่เคยทำมาก่อน
อีกนัยหนึ่ง หมายถึงไม่ต้องเจริญมรรคที่เจริญได้แล้ว และไม่ต้องละกิเลสที่ละได้แล้วอีก (องฺ.นวก.อ. 3/3/
287, ขุ.เถร.อ. 644/262) และดู องฺ.ฉกฺก. (แปล) 22/55/536

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :431 }