เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 1.สัมโพธิวรรค 2.นิสสยสูตร
2. นิสสยสูตร
ว่าด้วยนิสสัย
[2] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลที่เรียกกันว่า ‘ผู้ถึงพร้อมด้วยนิสสัย1 ผู้ถึงพร้อม
ด้วยนิสสัย’ ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยนิสสัย ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแล”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
1. ถ้าภิกษุอาศัยศรัทธาแล้ว ละอกุศล เจริญกุศลได้ อกุศลนั้นย่อม
เป็นอันเธอละได้แน่แท้
2. ถ้าภิกษุอาศัยหิริ ฯลฯ
3. ถ้าภิกษุอาศัยโอตตัปปะ ฯลฯ
4. ถ้าภิกษุอาศัยวิริยะ ฯลฯ
5. ถ้าภิกษุอาศัยปัญญาแล้ว ละอกุศล เจริญกุศลได้ อกุศลนั้นย่อม
เป็นอันเธอละได้แน่แท้ อกุศลที่ภิกษุละได้แล้วเพราะเห็นด้วยปัญญา
อันเป็นอริยะ2 เป็นอันภิกษุนั้นละได้แล้ว ละได้ดีแล้ว
ภิกษุนั้นดำรงอยู่ในธรรม 5 ประการแล้ว พึงอาศัยธรรม 4 ประการอยู่
ธรรม 4 ประการ3 อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
1. พิจารณาแล้วเสพ
2. พิจารณาแล้วอดกลั้น

เชิงอรรถ :
1 นิสสัย ในที่นี้หมายถึงที่พึ่ง (องฺ.นวก.อ. 3/2/286)
2 ปัญญาอันเป็นอริยะ หมายถึงปัญญาในอริยมรรคพร้อมทั้งวิปัสสนา (องฺ.นวก.อ. 3/2/286)
3 พิจารณาแล้วเสพ หมายถึงพิจารณาแล้วเสพปัจจัย 4 มีจีวรเป็นต้น
พิจารณาแล้วอดกลั้น หมายถึงพิจารณาแล้วอดกลั้นต่อความหนาวเป็นต้น
พิจารณาแล้วเว้น หมายถึงพิจารณาแล้วเว้นช้างดุร้าย หรือคนพาลเป็นต้น
พิจารณาแล้วบรรเทา หมายถึงพิจารณาแล้วบรรเทาอกุศลวิตก มีกามวิตก เป็นต้น ดู ที.ปา. 11/308/
200, องฺ.ทสก. (แปล) 24/20/40, ที.ปา.อ. 308/204

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :429 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 1.สัมโพธิวรรค 3.เมฆิยสูตร
3. พิจารณาแล้วเว้น
4. พิจารณาแล้วบรรเทา
ภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยนิสสัย เป็นอย่างนี้แล”
นิสสยสูตรที่ 2 จบ

3. เมฆิยสูตร
ว่าด้วยพระเมฆิยะ1
[3] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ จาลิกาบรรพต2 เขตเมือง
จาลิกา สมัยนั้น ท่านพระเมฆิยะเป็นอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาค3 ครั้งนั้นแล
ท่านพระเมฆิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วยืน ณ
ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์
ปรารถนาจะเข้าไปยังชันตุคามเพื่อบิณฑบาต” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เมฆิยะ เธอจง
กำหนดเวลาที่ควร ณ บัดนี้เถิด”
ครั้นเวลาเช้า ท่านพระเมฆิยะครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไปยัง
ชันตุคามเพื่อบิณฑบาต กลับจากบิณฑบาต หลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว เดินไป
ตามฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬา ขณะที่เที่ยวเดินพักผ่อน อยู่ที่ฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬานั้น ได้เห็น
ป่ามะม่วงที่งดงาม น่ารื่นรมย์ จึงมีความคิดดังนี้ว่า “ป่ามะม่วงนี้ช่างงดงาม
น่ารื่นรมย์จริง เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรของกุลบุตรผู้ต้องการบำเพ็ญเพียร ถ้าพระ
ผู้มีพระภาคทรงอนุญาตเรา เราจะกลับมาบำเพ็ญเพียร ในป่ามะม่วงนี้”

เชิงอรรถ :
1 ดู ขุ.อุ. 25/31/139
2 ที่ชื่อว่า จาลิกา เพราะเป็นภูเขาที่ปรากฏแก่ผู้แลดูในวันอุโบสถข้างแรม(กาฬปักษ์) ว่าเหมือนกับกำลังเคลื่อนไหว
ทั้งนี้เนื่องจากภูเขานี้มีสีขาวล้วนทั้งลูกซึ่งตัดกับความมืดในเวลากลางคืน (องฺ.นวก.อ. 3/3/286-287)
3 พระเมฆิยเถระ เป็นพระอุปัฏฐากอีกรูปหนึ่งของพระผู้มีพระภาค เนื่องจากในต้นพุทธกาล (20 พรรษาแรก)
พระผู้มีภาคไม่มีพระอุปัฏฐากประจำ บางคราวได้พระนาคสมาละ บางคราวได้พระนาคิตะ บางคราวได้
พระอุปวาหนะ บางคราวได้พระสุนักขัตตะ บางคราวได้พระสาคตะ บางคราวได้สามเณรจุนทะ (ขุ.อุ.อ.
31/230)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :430 }