เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 1.สัมโพธิวรรค 1.สัมโพธิสูตร
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์
ทั้งหลายมีพระผู้มีพระภาคเป็นหลัก ฯลฯ1 ภิกษุทั้งหลายฟังต่อจากพระผู้มีพระภาค
แล้วจักทรงจำไว้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า“ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจ
ให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้
ตรัสดังนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกถามอย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุทั้งหลาย
อะไรเป็นเหตุแห่งการเจริญธรรมที่เป็นฝ่ายแห่งสัมโพธิ’ เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้
ควรตอบพวกอัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นอย่างนี้ว่า
1. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี2 นี้เป็นเหตุ
ประการที่ 1 แห่งการเจริญธรรมที่เป็นฝ่ายแห่งสัมโพธิ
2. ภิกษุเป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วย
อาจาระและโคจรอยู่ มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทาน
ศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย นี้เป็นเหตุประการที่ 2 แห่งการ
เจริญธรรมที่เป็นฝ่ายแห่งสัมโพธิ
3. ภิกษุเป็นผู้ได้กถาเป็นเครื่องขัดเกลาอย่างยิ่ง ที่เป็นสัปปายะแห่งความ
เป็นไปของจิต3 คือ อัปปิจฉกถา(เรื่องความมักน้อย) สันตุฏฐิกถา
(เรื่องความสันโดษ) ปวิเวกกถา(เรื่องความสงัด) อสังสัคคกถา(เรื่อง
ความไม่คลุกคลี) วิริยารัมภกถา(เรื่องการปรารภความเพียร)

เชิงอรรถ :
1 ดูความเต็มในอัฏฐกนิบาต ข้อ 83 (มูลกสูตร) หน้า 407-408 ในเล่มนี้
2 มิตรดี หมายถึงมิตรที่มีคุณธรรมคือศีลเป็นต้น
สหาย หมายถึงเพื่อนร่วมงานที่ดี
เพื่อนดี หมายถึงเพื่อนที่รักใคร่ สนิทสนมรู้ใจกัน ซื่อสัตย์ต่อกัน (องฺ.ทสก.อ. 3/17/322)
3 เป็นสัปปายะแห่งความเป็นไปของจิต หมายถึงเป็นที่สบายและเป็นอุปการะแก่การชักนำจิตเข้าสู่สมถะ
และวิปัสสนา (องฺ.นวก.อ. 3/1/285)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :426 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 1.สัมโพธิวรรค 1.สัมโพธิสูตร
สีลกถา(เรื่องศีล) สมาธิกถา(เรื่องสมาธิ) ปัญญากถา(เรื่องปัญญา)
วิมุตติกถา(เรื่องวิมุตติ) วิมุตติญาณทัสสนกถา(เรื่องความรู้ความเห็น
ในวิมุตติ) ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก
นี้เป็นเหตุประการที่ 3 แห่งการเจริญธรรมที่เป็นฝ่ายแห่งสัมโพธิ
4. ภิกษุเป็นผู้ปรารภความเพียร1 เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศลธรรม
เกิด มีความเข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม
ทั้งหลาย นี้เป็นเหตุประการที่ 4 แห่งการเจริญธรรมที่เป็นฝ่าย
แห่งสัมโพธิ
5. ภิกษุเป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา
เห็นทั้งความเกิดและความดับอันเป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความ
สิ้นทุกข์โดยชอบ นี้เป็นเหตุประการที่ 5 แห่งการเจริญธรรมที่เป็น
ฝ่ายแห่งสัมโพธิ
ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังได้ข้อนี้ คือ จักเป็นผู้มีศีล สำรวม
ด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วยอาจาระและโคจรอยู่ มีปกติเห็นภัยในโทษ
แม้เล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังได้ข้อนี้ คือ จักเป็นผู้ได้กถา
เป็นเครื่องขัดเกลาอย่างยิ่ง ที่เป็นสัปปายะแห่งความเป็นไปของจิต คือ อัปปิจฉกถา
สันตุฏฐิกถา ปวิเวกกถา อสังสัคคกถา วิริยารัมภกถา สีลกถา สมาธิกถา
ปัญญากถา วิมุตติกถา วิมุตติญาณทัสสนกถา ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก
ได้โดยไม่ลำบาก
ภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี พึงหวังได้ข้อนี้ คือ จักเป็นผู้ปรารภ
ความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อให้กุศลธรรมเกิด มีความเข้มแข็ง มีความบากบั่น
มั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย

เชิงอรรถ :
1 ปรารภความเพียร หมายถึงประกอบความเพียรในสัมมัปปธาน (สารตฺถ.ฏีกา 3/84/292) อีกนัยหนึ่ง
หมายถึงระดมความเพียรเต็มที่ (สารตฺถ.ฏีกา 3/243/351) และดู องฺ.ทสก. (แปล) 24/11/18

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :427 }