เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [2.ทุติยปัณณาสก์] 3.ยมกวรรค 2.ทุติยสัทธาสูตร
2. ทุติยสัทธาสูตร
ว่าด้วยศรัทธา สูตรที่ 2
[72] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา แต่ไม่มีศีล เธอชื่อว่าเป็นผู้ไม่
บริบูรณ์ด้วยองค์นั้นอย่างนี้ เธอพึงบำเพ็ญองค์นั้นให้บริบูรณ์ด้วยคิดว่า ‘ทางที่ดี
เราควรเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล’ เมื่อใด ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล เมื่อนั้น เธอจึงชื่อ
ว่าเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยองค์นั้นอย่างนี้
ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธาและมีศีล แต่ไม่เป็นพหูสูต ฯลฯ เป็นพหูสูต แต่ไม่เป็น
ธรรมกถึก ฯลฯ เป็นธรรมกถึก แต่ไม่เข้าไปสู่บริษัท ฯลฯ เข้าไปสู่บริษัท แต่ไม่
แกล้วกล้าแสดงธรรมแก่บริษัท ฯลฯ แกล้วกล้าแสดงธรรมแก่บริษัท แต่ไม่ได้
สัมผัสสันตวิโมกข์1 ไม่มีรูปเพราะล่วงรูปทั้งหลายได้ด้วยกายอยู่2 ฯลฯ ได้สัมผัส
สันตวิโมกข์ซึ่งไม่มีรูปเพราะล่วงรูปทั้งหลายได้ด้วยกายอยู่ แต่ไม่ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ
ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ใน
ปัจจุบัน เธอจึงชื่อว่าเป็นผู้ไม่บริบูรณ์ด้วยองค์นั้นอย่างนี้ เธอพึงบำเพ็ญองค์นั้น
ให้บริบูรณ์ด้วยคิดว่า ‘ทางที่ดี เราควรเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล เป็นพหูสูต เป็น
ธรรมกถึก เข้าไปสู่บริษัท แกล้วกล้า แสดงธรรมแก่บริษัท ได้สัมผัสสันตวิโมกข์ซึ่ง
ไม่มีรูป เพราะล่วงรูปทั้งหลายได้ด้วยกายอยู่ และทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ
อันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’
เมื่อใด ภิกษุ
1. มีศรัทธา 2. มีศีล
3. เป็นพหูสูต 4. เป็นธรรมกถึก

เชิงอรรถ :
1 สันตวิโมกข์ หมายถึงอรูปฌานที่พ้นได้อย่างสิ้นเชิง เพราะพ้นจากธรรมที่เป็นข้าศึก กล่าวคือนิวรณ์ 5 และ
เพราะไม่เกี่ยวข้องในอารมณ์เป็นต้น (องฺ.ทสก.อ. 3/9/320)
2 กาย ในที่นี้หมายถึงนามกาย คือกองแห่งนามธรรม ได้แก่ เจตสิกทั้งหลาย (องฺ.ปญฺจก.อ. 3/26/8)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :381 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [2.ทุติยปัณณาสก์] 3.ยมกวรรค 3.ปฐมมรณัสสติสูตร
5. เข้าไปสู่บริษัท 6. แกล้วกล้าแสดงธรรมแก่บริษัท
7. ได้สัมผัสสันตวิโมกข์ซึ่งไม่มีรูป เพราะล่วงรูปทั้งหลายได้ด้วยกายอยู่
8. ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
เมื่อนั้น เธอจึงชื่อว่าเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยองค์นั้นอย่างนี้
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม 8 ประการนี้แล ชื่อว่าเป็นผู้ก่อให้เกิด
ความเลื่อมใสได้รอบด้าน และเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง
ทุติยสัทธาสูตรที่ 2 จบ

3. ปฐมมรณัสสติสูตร
ว่าด้วยการเจริญมรณัสสติ1สูตรที่ 1
[73] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ คิญชกาวสถาราม2 ใน
นาทิกคาม ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย มรณัสสติที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์
มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด เธอทั้งหลายเจริญมรณัสสติอยู่หรือไม่”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้ข้าพระองค์ก็ยังเจริญมรณัสสติอยู่”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภิกษุ เธอเจริญมรณัสสติอย่างไร”
ภิกษุกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์มีความคิด
อย่างนี้ว่า ‘โอหนอ เราพึงเป็นอยู่ได้คืนหนึ่งและวันหนึ่ง เราพึงมนสิการถึงคำสอน
ของพระผู้มีพระภาค เราพึงทำกิจให้มากหนอ’ ข้าพระองค์เจริญมรณัสสติอย่างนี้แล”

เชิงอรรถ :
1 ดู องฺ.ฉกฺก. (แปล) 22/19/444
2 คิญชกาวสถาราม หมายถึงปราสาทที่สร้างด้วยอิฐ (องฺ.ฉกฺก.อ. 3/19/107)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :382 }