เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 3.วัชชิสัตตกวรรค 3.ปฐมสัตตกสูตร
3. ปฐมสัตตกสูตร
ว่าด้วยอปริหานิยธรรม 7 ประการ1 สูตรที่ 1
[23] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์ ณ ที่นั้น
พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดง
อปริหานิยธรรม 7 ประการแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจัก
กล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย อปริหานิยธรรม 7 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่า
ที่ภิกษุยังหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ ประชุมกันมากครั้ง
2. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่า
ที่ภิกษุยังพร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม และ
พร้อมเพรียงกันทำกิจที่สงฆ์พึงทำ
3. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่า
ที่ภิกษุยังไม่บัญญัติสิ่งที่เรามิได้บัญญัติไว้ ไม่ล้มล้างสิ่งที่เราบัญญัติ
ไว้แล้ว ถือปฏิบัติมั่นในสิกขาบทที่บัญญัติไว้
4. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่า
ที่ภิกษุยังสักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู2
บวชมานาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก และสำคัญถ้อยคำของ
ท่านเหล่านั้นว่าเป็นสิ่งควรรับฟัง
5. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่า
ที่ภิกษุยังไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งตัณหาก่อให้เกิดภพใหม่ ที่เกิดขึ้นแล้ว

เชิงอรรถ :
1 ดู ที.ม. 10/136-140/69-72
2 เป็นเถระในที่นี้หมายถึงเป็นผู้มีความมั่นคง(ถิรภาวะ)ในพระศาสนาไม่หวนคืนไปสู่เพศคฤหัสถ์อีกประกอบ
ด้วยคุณธรรมที่ให้เป็นพระเถระคือศีลเป็นต้น รัตตัญญู เป็นตำแหน่งเอตทัคคะที่พระอัญญาโกณฑัญญะ
ได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้า มีความหมายว่ารู้ราตรีนาน คือบวช รู้แจ้งธรรม และเป็นพระขีณาสพก่อน
พระสาวกทั้งหลาย (องฺ.เอกก.อ. 1/188/122, องฺ.สตฺตก.อ. 3/23/174, องฺ.สตฺตก.ฏีกา 3/23/200)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :37 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 3.วัชชิสัตตกวรรค 4.ทุติยสัตตกสูตร
6. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่า
ที่ภิกษุยังเป็นผู้มุ่งหวังเสนาสนะป่า
7. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่า
ที่ภิกษุตั้งสติมั่นไว้ในภายในว่า ‘ทำอย่างไร เพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ผู้มีศีลงามที่ยังไม่มา ขอให้มา และท่านที่มาแล้ว พึงอยู่อย่างผาสุก’
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่ภิกษุยังมีอปริหานิยธรรมทั้ง 7 ประการนี้อยู่ และใส่ใจอปริหานิยธรรม
ทั้ง 7 ประการนี้อยู่”
ปฐมสัตตกสูตรที่ 3 จบ

4. ทุติยสัตตกสูตร
ว่าด้วยอปริหานิยธรรม 7 ประการ สูตรที่ 2
[24] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอปริหานิยธรรม 7 ประการแก่เธอ
ทั้งหลาย ฯลฯ1
อปริหานิยธรรม 7 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่า
ที่ภิกษุยังเป็นผู้ไม่ชอบการงาน2 ไม่ยินดีในการงาน ไม่หมั่นประกอบ
ความเป็นผู้ชอบการงาน
2. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่า
ที่ภิกษุยังเป็นผู้ไม่ชอบการพูดคุย3 ฯลฯ

เชิงอรรถ :
1 เครื่องหมาย “ฯลฯ” ที่ปรากฏในตอนต้นข้อความของข้อ 24-27 นี้ ดูความเต็มในข้อ 23 (ปฐมสัตตกสูตร)
หน้า 37 ในเล่มนี้
2 ไม่ชอบการงาน ในที่นี้หมายถึงการหยุดพักทำกิจมีการทำจีวร ประคตเอว ผ้ากรองน้ำ ไม้กวาด และผ้า
เช็ดเท้า หรืองานก่อสร้างต่าง ๆ เช่นก่อสร้างวิหารเป็นต้น ที่เป็นเหตุให้ละเลยต่อการบำเพ็ญคันถธุระและ
วิปัสสนาธุระ หันมามุ่งบำเพ็ญสมณธรรม (ที.ม.อ. 2/137/128, องฺ.สตฺตก.อ. 3/24/176 - 177,
องฺ.ฉกฺก. ฏีกา 3/14-15/118)
3 ไม่ชอบการพูดคุย ในที่นี้หมายถึงไม่มุ่งสนทนาเรื่องนอกธรรมวินัย เช่น เรื่องบุรุษ สตรี เป็นต้น แต่
สนทนาเรื่องธรรม ถามปัญหา ตอบปัญหาเกี่ยวกับธรรมวินัย พูดน้อย พูดมีที่จบ ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า
ภิกษุผู้นั่งประชุม มีหน้าที่ 2 อย่าง คือ (1) สนทนาธรรม (2) เป็นผู้นิ่งอย่างพระอริยะ (ที.ม.อ. 2/137/128,
องฺ.สตฺตก.อ. 3/24/177) และดู ม.มู. 12/273/235, องฺ.ฉกฺก. (แปล) 22/22/452)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :38 }