เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 3.วัชชิสัตตกวรรค 2.วัสสการสูตร
'' อานนท์ เธอได้ยินไหมว่า ‘พวกเจ้าวัชชีจัดการรักษา คุ้มครอง ป้องกัน
พระอรหันต์ทั้งหลายโดยชอบธรรมด้วยตั้งใจว่า ‘ทำอย่างไร พระอรหันต์ที่ยังไม่มา
พึงมาสู่แว่นแคว้นของเรา ท่านที่มาแล้วพึงอยู่อย่างผาสุก”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ยินว่า ‘พวกเจ้าวัชชีจัดการรักษา คุ้มครอง
ป้องกันพระอรหันต์ทั้งหลายโดยชอบธรรม ด้วยตั้งใจว่า ‘ทำอย่างไร พระอรหันต์ที่
ยังไม่มา พึงมาสู่แว่นแคว้นของเรา ท่านที่มาแล้วพึงอยู่อย่างผาสุก”
“อานนท์ พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังจัดการรักษา คุ้มครอง ป้องกันพระอรหันต์ทั้งหลายโดย
ชอบธรรมด้วยตั้งใจว่า ‘ทำอย่างไร พระอรหันต์ที่ยังไม่มา พึงมาสู่แว่นแคว้นของเรา
และท่านที่มาแล้วพึงอยู่อย่างผาสุก”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งวัสสการพราหมณ์ มหาอำมาตย์แคว้น
มคธว่า “พราหมณ์ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่สารันททเจดีย์ เขตกรุงเวสาลี ได้แสดง
อปริหานิยธรรม 7 ประการนี้แก่พวกเจ้าวัชชี พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญ
อย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังมีอปริหานิยธรรมทั้ง 7
ประการนี้อยู่ และใส่ใจอปริหานิยธรรมทั้ง 7 ประการนี้อยู่
วัสสการพราหมณ์ มหาอำมาตย์แคว้นมคธกราบทูลว่า “ข้าแต่ท่านพระ
โคดม พวกเจ้าวัชชีมีอปริหานิยธรรมแม้เพียงประการเดียว ก็พึงหวังได้แต่ความ
เจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ไม่จำต้องกล่าวว่ามีครบทั้ง 7 ประการ
ข้าแต่ท่านพระโคดม พระราชาแห่งแคว้นมคธ พระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร
ไม่ควรทำสงครามกับพวกเจ้าวัชชี นอกจากจะใช้วิธีปรองดองทางการทูต หรือไม่ก็
ทำให้แตกสามัคคีกัน ข้าแต่ท่านพระโคดม ถ้าอย่างนั้น บัดนี้ ข้าพระองค์ขอ
ทูลลากลับ เพราะมีกิจมาก มีหน้าที่ที่จะต้องทำอีกมาก”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ ท่านจงกำหนดเวลาที่สมควร ณ บัดนี้เถิด”
จากนั้น วัสสการพราหมณ์ มหาอำมาตย์แคว้นมคธมีใจยินดี ชื่นชมพระดำรัส
ของพระผู้มีพระภาคลุกจากที่นั่งแล้วจากไป
วัสสการสูตรที่ 2 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :36 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 3.วัชชิสัตตกวรรค 3.ปฐมสัตตกสูตร
3. ปฐมสัตตกสูตร
ว่าด้วยอปริหานิยธรรม 7 ประการ1 สูตรที่ 1
[23] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุงราชคฤห์ ณ ที่นั้น
พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดง
อปริหานิยธรรม 7 ประการแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจัก
กล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย อปริหานิยธรรม 7 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่า
ที่ภิกษุยังหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ ประชุมกันมากครั้ง
2. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่า
ที่ภิกษุยังพร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม และ
พร้อมเพรียงกันทำกิจที่สงฆ์พึงทำ
3. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่า
ที่ภิกษุยังไม่บัญญัติสิ่งที่เรามิได้บัญญัติไว้ ไม่ล้มล้างสิ่งที่เราบัญญัติ
ไว้แล้ว ถือปฏิบัติมั่นในสิกขาบทที่บัญญัติไว้
4. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่า
ที่ภิกษุยังสักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุผู้เป็นเถระ เป็นรัตตัญญู2
บวชมานาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายก และสำคัญถ้อยคำของ
ท่านเหล่านั้นว่าเป็นสิ่งควรรับฟัง
5. ภิกษุพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย ตราบเท่า
ที่ภิกษุยังไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งตัณหาก่อให้เกิดภพใหม่ ที่เกิดขึ้นแล้ว

เชิงอรรถ :
1 ดู ที.ม. 10/136-140/69-72
2 เป็นเถระในที่นี้หมายถึงเป็นผู้มีความมั่นคง(ถิรภาวะ)ในพระศาสนาไม่หวนคืนไปสู่เพศคฤหัสถ์อีกประกอบ
ด้วยคุณธรรมที่ให้เป็นพระเถระคือศีลเป็นต้น รัตตัญญู เป็นตำแหน่งเอตทัคคะที่พระอัญญาโกณฑัญญะ
ได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้า มีความหมายว่ารู้ราตรีนาน คือบวช รู้แจ้งธรรม และเป็นพระขีณาสพก่อน
พระสาวกทั้งหลาย (องฺ.เอกก.อ. 1/188/122, องฺ.สตฺตก.อ. 3/23/174, องฺ.สตฺตก.ฏีกา 3/23/200)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :37 }