เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [2.ทุติยปัณณาสก์] 1.โคตมีวรรค 5.อุชชยสูตร
จาคสัมปทา เป็นอย่างไร
คือ กุลบุตรในโลกนี้มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน มีจาคะอันสละแล้ว
มีฝ่ามือชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการแจกทานอยู่ครองเรือน
นี้เรียกว่า จาคสัมปทา
ปัญญาสัมปทา เป็นอย่างไร
คือ กุลบุตรในโลกนี้เป็นผู้มีปัญญา ฯลฯ1 ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี้เรียกว่า
ปัญญาสัมปทา
พราหมณ์ ธรรม 4 ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อเกื้อกูลในภพหน้า เพื่อสุขใน
ภพหน้าแก่กุลบุตร
คนขยันหมั่นเพียรในการงาน
ไม่ประมาท รู้วิธีการเลี้ยงชีวิตแต่พอเหมาะ
รักษาทรัพย์ที่หามาได้ เป็นผู้มีศรัทธา ถึงพร้อมด้วยศีล
รู้ความประสงค์ของผู้ขอ ปราศจากความตระหนี่
ชำระทางแห่งประโยชน์ที่มีในภพหน้าอยู่เป็นนิตย์
ที่พระพุทธเจ้าผู้มีพระนามว่าสัจจะตรัสธรรม 8 ประการดังกล่าวมานี้
เพื่อผู้ครองเรือน ผู้มีศรัทธา
อันเป็นเหตุนำสุขมาให้ในโลกทั้ง 2 คือ
ประโยชน์เกื้อกูลในภพนี้ และสุขในภพหน้า
จาคะ บุญ ย่อมเจริญยิ่งขึ้นแก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้”
อุชชยสูตรที่ 5 จบ

เชิงอรรถ :
1 ดูความเต็มในข้อ 54 (ทีฆชาณุสูตร) หน้า 344 ในวรรคเดียวกันนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :348 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [2.ทุติยปัณณาสก์] 1.โคตมีวรรค 6.ภยสูตร
6. ภยสูตร
ว่าด้วยภัยเป็นชื่อของกาม1
[56] ภิกษุทั้งหลาย
1. คำว่า ‘ภัย’ เป็นชื่อของกาม
2. คำว่า ‘ทุกข์’ เป็นชื่อของกาม
3. คำว่า ‘โรค’ เป็นชื่อของกาม
4. คำว่า ‘ฝี’ เป็นชื่อของกาม
5. คำว่า ‘ลูกศร’ เป็นชื่อของกาม
6. คำว่า ‘เครื่องข้อง’ เป็นชื่อของกาม
7. คำว่า ‘เปือกตม’ เป็นชื่อของกาม
8. คำว่า ‘การอยู่ในครรภ์’ เป็นชื่อของกาม
คำว่า ‘ภัย’ นี้เป็นชื่อของกาม เพราะเหตุไร
เพราะสัตว์โลกผู้ยินดีด้วยกามราคะ ถูกฉันทราคะ2เกี่ยวพันไว้ ย่อมไม่พ้นจาก
ภัยทั้งที่มีในภพนี้ ทั้งที่มีในภพหน้า ฉะนั้น คำว่า ‘ภัย’ นี้ จึงเป็นชื่อของกาม

เชิงอรรถ :
1 ดู องฺ.ฉกฺก. (แปล) 22/23/453, ขุ.จู. (แปล) 30/137/445-446
2 ฉันทราคะ หมายถึงความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจกล่าวคือตัณหา (องฺ.ติก.อ. 2/113/260) ทั้งกาม-
ราคะ และฉันทราคะ เป็นชื่อเรียกกิเลสกามในจำนวน 18 ชื่อ คือ (1) ฉันทะ (ความพอใจ) (2) ราคะ
(ความกำหนัด) (3) ฉันทราคะ (ความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ) (4) สังกัปปะ (ความดำริ)
(5) ราคะ (ความกำหนัด) (6) สังกัปปราคะ (ความกำหนัดด้วยอำนาจความดำริ) (7) กามฉันทะ (ความ
พอใจด้วยอำนาจความใคร่) (8) กามราคะ (ความกำหนัดด้วยอำนาจความใคร่) (9) กามนันทะ (ความ
เพลิดเพลินด้วยอำนาจความใคร่) (10) กามตัณหา (ความทะยานอยากด้วยอำนาจความใคร่) (11) กาม-
เสนหะ (ความเยื่อใยด้วยอำนาจความใคร่) (12) กามปริฬาหะ (ความเร่าร้อนด้วยอำนาจความใคร่)
(13) กามมุจฉา (ความสยบด้วยอำนาจความใคร่) (14) กามัชโฌสานะ (ความติดใจด้วยอำนาจความใคร่)
(15) กาโมฆะ (ห้วงน้ำคือความใคร่) (16) กามโยคะ (กิเลสเครื่องประกอบด้วยอำนาจความใคร่)
(17) กามุปาทานะ (กิเลสเครื่องยึดมั่นคือความใคร่) (18) กามัจฉันทนีวรณะ (กิเลสเครื่องกั้นจิตคือ
ความพอใจด้วยอำนาจความใคร่) ขุ.ม. (แปล) 29/1/2

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :349 }