เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [2.ทุติยปัณณาสก์] 1.โคตมีวรรค 3.สังขิตตสูตร
“ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมโดยย่อที่เมื่อหม่อมฉัน
ฟังแล้ว จะพึงเป็นผู้จากไปอยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจ
อยู่เถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โคตมี เธอรู้ธรรมเหล่าใดว่า
1. ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อความกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อคลายความกำหนัด
2. ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อความประกอบไว้ ไม่เป็นไปเพื่อความพราก
3. ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อการสะสม ไม่เป็นไปเพื่อการไม่สะสม
4. ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อความมักมาก ไม่เป็นไปเพื่อความมักน้อย
5. ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อความไม่สันโดษ ไม่เป็นไปเพื่อความสันโดษ
6. ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อความคลุกคลีหมู่คณะ ไม่เป็นไปเพื่อความสงัด
7. ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน ไม่เป็นไปเพื่อปรารภ
ความเพียร
8. ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงยาก ไม่เป็นไปเพื่อความ
เป็นคนเลี้ยงง่าย
โคตมี เธอพึงทรงจำธรรมเหล่านี้ไว้โดยส่วนเดียวว่า ‘นั่นไม่ใช่ธรรม นั่นไม่ใช่
วินัย นั่นไม่ใช่สัตถุศาสน์’
โคตมี เธอรู้ธรรมเหล่าใดว่า
1. ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อคลายความกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อความกำหนัด
2. ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อความพราก ไม่เป็นไปเพื่อความประกอบไว้
3. ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อการไม่สะสม ไม่เป็นไปเพื่อการสะสม
4. ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อความมักน้อย ไม่เป็นไปเพื่อความมักมาก
5. ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อความสันโดษ ไม่เป็นไปเพื่อความไม่สันโดษ
6. ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อความสงัด ไม่เป็นไปเพื่อความคลุกคลีหมู่คณะ
7. ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร ไม่เป็นไปเพื่อความ
เกียจคร้าน
8. ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงง่าย ไม่เป็นไปเพื่อความ
เป็นคนเลี้ยงยาก
โคตมี เธอพึงทรงจำธรรมเหล่านี้ไว้โดยส่วนเดียวว่า ‘นั่นเป็นธรรม นั่นเป็นวินัย
นั่นเป็นสัตถุศาสน์”
สังขิตตสูตรที่ 3 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :339 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [2.ทุติยปัณณาสก์] 1.โคตมีวรรค 4.ทีฆชาณุสูตร
4. ทีฆชาณุสูตร
ว่าด้วยโกฬิยบุตรชื่อว่าทีฆชาณุ
[54] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวโกฬิยะชื่อว่า
กักกรปัตตะ เขตกรุงโกฬิยะ ครั้งนั้น โกฬิยบุตรชื่อว่าทีฆชาณุได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์เป็นคฤหัสถ์ เป็นกามโภคี อยู่ครองเรือน
นอนเบียดบุตร ใช้จันทน์ของชาวกาสี ทัดทรงดอกไม้ ของหอม และเครื่องลูบไล้
ยินดีทองและเงิน1 ขอพระผู้มีพระภาคโปรดแสดงธรรมที่จะพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูลในภพนี้
เพื่อสุขในภพนี้และเพื่อเกื้อกูลในภพหน้าเพื่อสุขในภพหน้าแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายเถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พยัคฆปัชชะ2 ธรรม 4 ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อ
เกื้อกูลในภพนี้ เพื่อสุขในภพนี้แก่กุลบุตร
ธรรม 4 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. อุฏฐานสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยความหมั่น)
2. อารักขสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยการรักษา)
3. กัลยาณมิตตตา (ความเป็นผู้มีมิตรดี)
4. สมชีวิตา (ความเป็นอยู่เหมาะสม)
อุฏฐานสัมปทา เป็นอย่างไร
คือ กุลบุตรในโลกนี้เลี้ยงชีพด้วยการงานใด จะเป็นกสิกรรม พาณิชยกรรม
โครักขกรรม เป็นช่างศร รับราชการ หรือศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม เป็นผู้ขยัน
ไม่เกียจคร้านในการงานที่จะต้องช่วยกันทำนั้น ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา----------------------------------------

--
1 ดู ขุ.อุ. 25/52/186
2 พยัคฆปัชชะ เป็นชื่อเรียกชาวโกฬิยะ เพราะบรรพบุรุษของชาวโกฬิกะนี้สร้างบ้านเรือนอยู่ในพยัคฆปัชช-
นคร (นครทางเสือผ่าน) (องฺ.จตุกฺก.อ. 2/194/413)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :340 }