เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [2.ทุติยปัณณาสก์] 1.โคตมีวรรค 1.โคตมีสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ ถ้ามหาปชาบดีโคตมีรับครุธรรม1
8 ประการได้ การรับครุธรรมนั้นแลเป็นการอุปสมบท2ของเธอ คือ
1. ภิกษุณีถึงจะบวชได้ 100 พรรษา ก็ต้องทำการกราบไหว้ การต้อนรับ
การทำอัญชลีกรรม การทำสามีจิกรรม3 แก่ภิกษุผู้บวชแม้ในวันนั้น
ธรรมข้อนี้ภิกษุณีพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่พึงล่วงละเมิด
จนตลอดชีวิต
2. ภิกษุณีไม่พึงอยู่จำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ ธรรมข้อนี้ภิกษุณีพึง
สักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่พึงล่วงละเมิดจนตลอดชีวิต
3. ภิกษุณีพึงหวังธรรม 2 อย่าง คือ ถามอุโบสถ และไปรับโอวาทจาก
ภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน ธรรมข้อนี้ภิกษุณีพึงสักการะ เคารพ นับถือ
บูชา ไม่พึงล่วงละเมิดจนตลอดชีวิต
4. ภิกษุณีจำพรรษาแล้วพึงปวารณาในสงฆ์ 2 ฝ่าย โดยสถาน 3 คือ
ได้เห็น ได้ฟัง หรือได้นึกสงสัย ธรรมข้อนี้ภิกษุณีพึงสักการะ เคารพ
นับถือ บูชา ไม่พึงล่วงละเมิดจนตลอดชีวิต
5. ภิกษุณีต้องครุธรรมแล้วพึงประพฤติปักขมานัตในสงฆ์ 2 ฝ่าย ธรรม
ข้อนี้ภิกษุณีพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่พึงล่วงละเมิดจน
ตลอดชีวิต
6. ภิกษุณีพึงแสวงหาการอุปสมบทในสงฆ์ 2 ฝ่ายให้แก่นางสิกขมานา
ที่ศึกษาธรรม 6 ข้อ ตลอด 2 ปีแล้ว ธรรมข้อนี้ภิกษุณีพึงสักการะ
เคารพ นับถือ บูชา ไม่พึงล่วงละเมิดจนตลอดชีวิต
7. ภิกษุณีไม่พึงด่า ไม่พึงบริภาษภิกษุ ไม่ว่ากรณีใด ๆ ธรรมข้อนี้ภิกษุณี
พึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่พึงล่วงละเมิดจนตลอดชีวิต

เชิงอรรถ :
1 ดู วิ.มหา. (แปล) 2/149/322-323, วิ.จู. (แปล) 7/403/315-319
2 อุปสมบท ในที่นี้หมายถึงทั้งการบรรพชาและอุปสมบท (องฺ.อฏฺฐก.อ. 3/51/263)
3 การกราบไหว้ หมายถึงการไม่มีมานะ(ความถือตัว) ก้มกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ การต้อนรับ หมาย
ถึงลุกจากที่นั่งแล้วลุกขึ้นยืนรับ การทำอัญชลีกรรม หมายถึงประนมมือทั้ง 10 นิ้วไหว้ การทำสามีจิกรรม
หมายถึงทำสามีจิกรรมอันสมควรมีการปูลาดอาสนะ และการพัดให้เป็นต้น (องฺ.อฏฺฐก.อ. 3/51/263)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :334 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [2.ทุติยปัณณาสก์] 1.โคตมีวรรค 1.โคตมีสูตร
8. ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ห้ามภิกษุณีสั่งสอนภิกษุ แต่ไม่ห้ามภิกษุสั่งสอน
ภิกษุณี ธรรมข้อนี้ภิกษุณีพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่พึงล่วง
ละเมิดจนตลอดชีวิต
อานนท์ ถ้ามหาปชาบดีโคตมีรับครุธรรม 8 ประการนี้ได้ การรับครุธรรมนั้นแล
เป็นการอุปสมบทของเธอ”
ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์เรียนครุธรรม 8 ประการนี้ในสำนักของพระ
ผู้มีพระภาคแล้ว เข้าไปหาพระนางมหาปชาบดีโคตมีถึงที่ประทับ แล้วกล่าวกับ
พระนางมหาปชาบดีโคตมีดังนี้ว่า
“พระนางโคตมี ถ้าพระองค์รับครุธรรม 8 ประการได้ การรับครุธรรมนั้นแล
จักเป็นการอุปสมบทของพระองค์ คือ
1. ภิกษุณีถึงจะบวชได้ 100 พรรษา ก็ต้องทำการกราบไหว้ การต้อนรับ
การทำอัญชลีกรรม การทำสามีจิกรรมแก่ภิกษุผู้บวชแม้ในวันนั้น
ธรรมข้อนี้ภิกษุณีพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่พึงล่วงละเมิด
จนตลอดชีวิต
ฯลฯ
8. ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ห้ามภิกษุณีสั่งสอนภิกษุ แต่ไม่ห้ามภิกษุสั่งสอน
ภิกษุณี ธรรมข้อนี้ภิกษุณีพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่พึง
ล่วงละเมิดจนตลอดชีวิต
พระนางโคตมี ถ้าพระองค์รับครุธรรม 8 ประการได้ การรับครุธรรมนั้นแล
จักเป็นการอุปสมบทของพระองค์”
พระนางมหาปชาบดีโคตมีตรัสตอบว่า “ท่านอานนท์ผู้เจริญ ดิฉันก็จะรับ
ครุธรรม 8 ประการนี้ ไม่ล่วงละเมิดจนตลอดชีวิต เปรียบเหมือนหญิงสาวหรือ
ชายหนุ่มผู้ชอบแต่งกายเมื่อสรงน้ำดำเกล้าแล้ว ได้พวงดอกอุบล พวงดอกมะลิ
หรือพวงดอกลำดวนแล้ว ก็ใช้มือทั้งสองประคองรับไว้เหนือศีรษะ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :335 }