เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [2.ทุติยปัณณาสก์] 1.โคตมีวรรค 1.โคตมีสูตร
ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศไว้ ขอ
ประทานวโรกาส ขอมาตุคามพึงได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในพระธรรมวินัย
ที่พระตถาคตทรงประกาศไว้ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามว่า “อย่าเลย อานนท์ เธออย่าชอบใจการที่มาตุคาม
ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้เลย”
แม้ครั้งที่ 2 ฯลฯ
แม้ครั้งที่ 3 ท่านพระอานนท์ก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ขอประทาน
วโรกาส ขอมาตุคามพึงได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในพระธรรมวินัยที่พระตถาคต
ทรงประกาศไว้ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสห้ามว่า “อย่าเลย อานนท์ เธออย่าชอบใจการที่มาตุคาม
ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้เลย”
ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ได้มีความดำริว่า “พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาต
ให้มาตุคามออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศไว้
ทางที่ดีเราควรทูลขอพระผู้มีพระภาคให้มาตุคามออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตได้
ในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศไว้ด้วยอุบายบางอย่าง”
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ มาตุคามออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรง
ประกาศไว้ จะสามารถทำให้แจ้งโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล หรือ
อรหัตตผลได้หรือไม่”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ มาตุคามออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้ สามารถทำให้แจ้งโสดาปัตติผล สกทาคามิผล
อนาคามิผล หรืออรหัตตผลได้”
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้ามาตุคามออกจากเรือน
บวชเป็นบรรพชิตในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศไว้ สามารถทำให้แจ้ง
โสดาปัตติผล ฯลฯ หรืออรหัตตผลได้ พระนางมหาปชาบดีโคตมีเป็นพระมาตุจฉา
ของพระผู้มีพระภาค ทรงมีอุปการะมาก เคยประคับประคองดูแลถวายเกษียรธาร
เมื่อพระชนนีสวรรคต ขอประทานวโรกาส ขอมาตุคามพึงได้ออกจากเรือนบวชเป็น
บรรพชิตในพระธรรมวินัยที่พระตถาคตทรงประกาศไว้ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า”


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :333 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [2.ทุติยปัณณาสก์] 1.โคตมีวรรค 1.โคตมีสูตร
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ ถ้ามหาปชาบดีโคตมีรับครุธรรม1
8 ประการได้ การรับครุธรรมนั้นแลเป็นการอุปสมบท2ของเธอ คือ
1. ภิกษุณีถึงจะบวชได้ 100 พรรษา ก็ต้องทำการกราบไหว้ การต้อนรับ
การทำอัญชลีกรรม การทำสามีจิกรรม3 แก่ภิกษุผู้บวชแม้ในวันนั้น
ธรรมข้อนี้ภิกษุณีพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่พึงล่วงละเมิด
จนตลอดชีวิต
2. ภิกษุณีไม่พึงอยู่จำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ ธรรมข้อนี้ภิกษุณีพึง
สักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่พึงล่วงละเมิดจนตลอดชีวิต
3. ภิกษุณีพึงหวังธรรม 2 อย่าง คือ ถามอุโบสถ และไปรับโอวาทจาก
ภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน ธรรมข้อนี้ภิกษุณีพึงสักการะ เคารพ นับถือ
บูชา ไม่พึงล่วงละเมิดจนตลอดชีวิต
4. ภิกษุณีจำพรรษาแล้วพึงปวารณาในสงฆ์ 2 ฝ่าย โดยสถาน 3 คือ
ได้เห็น ได้ฟัง หรือได้นึกสงสัย ธรรมข้อนี้ภิกษุณีพึงสักการะ เคารพ
นับถือ บูชา ไม่พึงล่วงละเมิดจนตลอดชีวิต
5. ภิกษุณีต้องครุธรรมแล้วพึงประพฤติปักขมานัตในสงฆ์ 2 ฝ่าย ธรรม
ข้อนี้ภิกษุณีพึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่พึงล่วงละเมิดจน
ตลอดชีวิต
6. ภิกษุณีพึงแสวงหาการอุปสมบทในสงฆ์ 2 ฝ่ายให้แก่นางสิกขมานา
ที่ศึกษาธรรม 6 ข้อ ตลอด 2 ปีแล้ว ธรรมข้อนี้ภิกษุณีพึงสักการะ
เคารพ นับถือ บูชา ไม่พึงล่วงละเมิดจนตลอดชีวิต
7. ภิกษุณีไม่พึงด่า ไม่พึงบริภาษภิกษุ ไม่ว่ากรณีใด ๆ ธรรมข้อนี้ภิกษุณี
พึงสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่พึงล่วงละเมิดจนตลอดชีวิต

เชิงอรรถ :
1 ดู วิ.มหา. (แปล) 2/149/322-323, วิ.จู. (แปล) 7/403/315-319
2 อุปสมบท ในที่นี้หมายถึงทั้งการบรรพชาและอุปสมบท (องฺ.อฏฺฐก.อ. 3/51/263)
3 การกราบไหว้ หมายถึงการไม่มีมานะ(ความถือตัว) ก้มกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ การต้อนรับ หมาย
ถึงลุกจากที่นั่งแล้วลุกขึ้นยืนรับ การทำอัญชลีกรรม หมายถึงประนมมือทั้ง 10 นิ้วไหว้ การทำสามีจิกรรม
หมายถึงทำสามีจิกรรมอันสมควรมีการปูลาดอาสนะ และการพัดให้เป็นต้น (องฺ.อฏฺฐก.อ. 3/51/263)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :334 }