เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 2.อนุสยวรรค รวมพระสูตรที่มีในวรรค
3. เป็นผู้มีฉันทะอย่างแรงกล้าในการกำจัดความอยาก1 และได้ความ
รักในการกำจัดความอยากต่อไป
4. เป็นผู้มีฉันทะอย่างแรงกล้าในการหลีกเร้น และได้ความรักในการ
หลีกเร้นต่อไป
5. เป็นผู้มีฉันทะอย่างแรงกล้าในการปรารภความเพียร และได้ความรัก
ในการปรารภความเพียรต่อไป
6. เป็นผู้มีฉันทะอย่างแรงกล้าในสติปัญญาเป็นเครื่องรักษาตน2 และได้
ความรักในสติปัญญาเป็นเครื่องรักษาตนต่อไป
7. เป็นผู้มีฉันทะอย่างแรงกล้าในการแทงตลอดด้วยทิฏฐิ3และได้ความรัก
ในการแทงตลอดด้วยทิฏฐิต่อไป
ภิกษุทั้งหลาย นิททสวัตถุ 7 ประการนี้แล
นิททสวัตถุสูตรที่ 10 จบ
อนุสยวรรคที่ 2 จบ

รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ

1. ปฐมอนุสยสูตร 2. ทุติยอนุสยสูตร
3. กุลสูตร 4. ปุคคลสูตร
5. อุทกูปมาสูตร 6. อนิจจานุปัสสีสูตร
7. ทุกขานุปัสสีสูตร 8. อนัตตานุปัสสีสูตร
9. นิพพานสูตร 10. นิททสวัตถุสูตร


เชิงอรรถ :
1 การกำจัดความอยาก หมายถึงการกำจัดหรือการข่มตัณหาได้ด้วยอำนาจของภังคานุปัสสนาญาณ
(ญาณอันตามเห็นความสลาย) (องฺ.ปญฺจก.อ. 3/20/165, องฺ.สตฺตก.ฏีกา 3/20/192) หรือด้วยอำนาจ
วิปัสสนาญาณมีวิราคานุปัสสนาเป็นต้น (ที.ปา.ฏีกา 331/326)
2 สติปัญญาเป็นเครื่องรักษาตน ในที่นี้หมายถึงสติและเนปักกปัญญากล่าวคือสติและสัมปชัญญะ (องฺ.สตฺตก.อ.
3/20/165, องฺ.สตฺตก.ฏีกา 3/20/193)
3 ในการแทงตลอดด้วยทิฏฐิ แปลจากบาลีว่า ทิฏฺฐิปฏิเวเธ หมายถึงมัคคทัสสนะ (การเห็นมรรค) กล่าว
คือ การเห็นแจ้งด้วยมัคคสัมมาทิฏฐิ (องฺ.สตฺตก.อ. 3/20/165, องฺ.สตฺตก.ฏีกา 3/20/193)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :30 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 3.วัชชิสัตตกวรรค 1.สารันททสูตร
3. วัชชิสัตตกวรรค
หมวดว่าด้วยธรรม 7 ประการของชาววัชชี1
1. สารันททสูตร
ว่าด้วยการแสดงอปริหานิยธรรมที่สารันททเจดีย์
[21] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ สารันททเจดีย์2 เขตกรุงเวสาลี
ครั้งนั้น เจ้าลิจฉวีหลายองค์ได้พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับเจ้าลิจฉวีเหล่านั้นดังนี้ว่า
“เจ้าลิจฉวีทั้งหลาย เราจักแสดงอปริหานิยธรรม3 7 ประการแก่ท่านทั้งหลาย
ท่านทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” เจ้าลิจฉวีเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“เจ้าลิจฉวีทั้งหลาย อปริหานิยธรรม 7 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญ4 อย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ ประชุมกันมากครั้ง
2. พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังพร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกัน
เลิกประชุม และพร้อมเพรียงกันทำกิจที่พวกเจ้าวัชชีพึงทำ
3. พวกเจ้าวัชชีพึงหวังได้แต่ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย
ตราบเท่าที่พวกเจ้าวัชชียังไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้ ไม่ล้มล้างสิ่งที่
บัญญัติไว้แล้ว ถือปฏิบัติมั่นในวัชชีธรรมที่วางไว้เดิม5

เชิงอรรถ :
1 ดู ที.ม.10/134/66-68 (มหาปรินิพพานสูตร)
2 สารันททเจดีย์ หมายถึงสถานที่เป็นที่อยู่ของยักษ์ชื่อสารันททะ หรือหมายถึงสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรง
ทำนิมิตโอภาสแก่พระอานนท์ (องฺ.สตฺตก.อ. 3/21/166)
3 อปริหานิยธรรม หมายถึงธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดความเจริญโดยส่วนเดียว ไม่มีความเสื่อม มี 2 ประเภท
คือ ราชอปริหานิยธรรม และภิกขุอปริหานิยธรรม (ที.ม.อ. 2/134-136/116-128)
4 ความเจริญ ในที่นี้หมายถึงความเจริญด้วยคุณธรรมมีศีลเป็นต้น (ที.ม.อ. 2/136/126)
5 วัชชีธรรมที่วางไว้เดิม หมายถึงประเพณีที่สืบต่อกันมานาน เช่น จับผู้ต้องสงสัยว่าเป็นโจร ผู้จับจะไม่
สอบสวนเอง แต่จะส่งให้ฝ่ายสอบสวน ฝ่ายสอบสวนสืบสวนแล้วรู้ว่าไม่ใช่ก็ปล่อย ถ้ายังสงสัยก็ส่งต่อขึ้นไป
ตามลำดับชั้น บางกรณีอาจส่งถึงเสนาบดี บางกรณีอาจส่งถึงพระราชาเพื่อทรงวินิจฉัย (ที.ม.อ.2/134/118)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :31 }