เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 1.ธนวรรค 2.ทุติยปิยสูตร
2. ทุติยปิยสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นเหตุให้เป็นที่รัก สูตรที่ 2
[2] ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม 7 ประการ ย่อมไม่เป็นที่รัก
ไม่เป็นที่พอใจ ไม่เป็นที่เคารพ และไม่เป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ธรรม 7 ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้

1. เป็นผู้มุ่งลาภ 2. เป็นผู้มุ่งสักการะ
3. เป็นผู้มุ่งชื่อเสียง 4. เป็นผู้ไม่มีหิริ
5. เป็นผู้ไม่มีโอตตัปปะ 6. เป็นผู้มีความริษยา
7. เป็นผู้มีความตระหนี่

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม 7 ประการนี้แล ย่อมไม่เป็นที่รัก
ไม่เป็นที่พอใจ ไม่เป็นที่เคารพ และไม่เป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม 7 ประการ ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ
เป็นที่เคารพ และเป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ธรรม 7 ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้

1. เป็นผู้ไม่มุ่งลาภ 2. เป็นผู้ไม่มุ่งสักการะ
3. เป็นผู้ไม่มุ่งชื่อเสียง 4. เป็นผู้มีหิริ
5. เป็นผู้มีโอตตัปปะ 6. เป็นผู้ไม่มีความริษยา
7. เป็นผู้ไม่มีความตระหนี่

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประกอบด้วยธรรม 7 ประการนี้แล ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่
พอใจ เป็นที่เคารพ และเป็นที่ยกย่องของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ทุติยปิยสูตรที่ 2 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :3 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 1.ธนวรรค 3.สังขิตตพลสูตร
3. สังขิตตพลสูตร
ว่าด้วยพละโดยย่อ
[3] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิก-
เศรษฐี ฯลฯ1
ภิกษุทั้งหลาย พละ (กำลัง) 7 ประการนี้
พละ 7 ประการ อะไรบ้าง คือ

1. สัทธาพละ (กำลังคือศรัทธา)
2. วิริยพละ (กำลังคือวิริยะ)
3. หิริพละ (กำลังคือหิริ)
4. โอตตัปปพละ (กำลังคือโอตตัปปะ)
5. สติพละ (กำลังคือสติ)
6. สมาธิพละ (กำลังคือสมาธิ)
7. ปัญญาพละ (กำลังคือปัญญา)

ภิกษุทั้งหลาย พละ 7 ประการนี้แล
ภิกษุผู้เป็นบัณฑิตมีพละ 7 ประการนี้ คือ
สัทธาพละ วิริยพละ หิริพละ โอตตัปปพละ
สติพละ สมาธิพละ และปัญญาพละ
ย่อมอยู่อย่างเป็นสุข

เชิงอรรถ :
1 ดูความเต็มในข้อ 1 (ปฐมปิยสูตร) หน้า 1 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :4 }