เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 4.ทานวรรค 6.ปุญญกิริยาวัตถุสูตร
ชั้นพรหมกายิกา มีอายุยืน มีผิวพรรณงาม มีความสุขมาก’ จึงมี
ความปรารถนาอย่างนี้ว่า ‘โอหนอ หลังจากตายแล้ว เราพึงเกิด
ร่วมกับพวกเทวดาชั้นพรหมกายิกา’ เขาตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น
เจริญจิตนั้นอยู่ จิตของเขาโน้มไปในทางต่ำ เจริญให้ยิ่งขึ้นไปไม่ได้
ย่อมเป็นไปเพื่อเกิดในที่นั้น หลังจากตายแล้ว เขาจึงเกิดร่วมกับ
พวกเทวดาชั้นพรหมกายิกา ข้อนี้แล เรากล่าวไว้สำหรับผู้มีศีล
ไม่ใช่สำหรับผู้ทุศีล สำหรับผู้ปราศจากราคะ1 ไม่ใช่สำหรับผู้มีราคะ
ภิกษุทั้งหลาย มโนปณิธานของท่านผู้มีศีล ย่อมสำเร็จได้ เพราะเป็น
ผู้ปราศจากราคะ
ภิกษุทั้งหลาย ผลที่เกิดจากการให้ทาน 8 ประการนี้แล
ทานูปปัตติสูตรที่ 5 จบ

6. ปุญญกิริยาวัตถุสูตร
ว่าด้วยบุญกิริยาวัตถุ2
[36] ภิกษุทั้งหลาย บุญกิริยาวัตถุ 3 ประการนี้
บุญกิริยาวัตถุ 3 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. บุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทาน
2. บุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีล
3. บุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนา
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานนิดหน่อย
ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลนิดหน่อย และไม่จัดแจงบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วย
ภาวนาเลย หลังจากตายแล้ว เขาย่อมเข้าถึงความเป็นผู้โชคร้ายในมนุษย์

เชิงอรรถ :
1 ปราศจากราคะ ในที่นี้หมายถึงปราศจากราคะโดยการถอนขึ้นได้ด้วยมรรค หรือปราศจากราคะโดยการ
ข่มไว้ได้ด้วยสมาบัติ (องฺ.อฏฺฐก.อ.3/35/256)
2 บุญกิริยาวัตถุ มาจาก บุญกิริยา + วัตถุ แยกอธิบายความหมายได้ดังนี้ (1) บุญกิริยา หมายถึงการ
ตั้งใจบำเพ็ญบุญ (2) วัตถุ หมายถึงที่ตั้งหรือเหตุให้เกิดอานิสงส์ต่าง ๆ ดังนั้น บุญกิริยาวัตถุ จึงหมายถึง
การบำเพ็ญบุญอันเป็นเหตุให้เกิดอานิสงส์ (องฺ.อฏฺฐก.อ. 3/36/256-257, องฺ.อฏฺฐก.ฏีกา 3/36/292-
293) และดู ที.ปา. 11/305/193-196, ขุ.อิติ. 25/60-61/178

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :294 }