เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 3.คหปติวรรค 9.อักขณสูตร
7. ตถาคต ฯลฯ แต่บุคคลนี้เป็นผู้กลับมาเกิดในมัชฌิมชนบท เป็นคน
มีปัญญาทราม โง่เขลา เป็นคนเซอะ1 ไม่สามารถจะรู้เนื้อความแห่ง
สุภาษิตและทุพภาษิตได้ นี้มิใช่ขณะมิใช่สมัยที่จะอยู่ประพฤติ
พรหมจรรย์ประการที่ 7
8. ตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ ฯลฯ
เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็น
พระผู้มีพระภาค ไม่อุบัติขึ้นแล้วในโลก และไม่แสดงธรรมที่นำ
ความสงบมาให้ เป็นไปเพื่อปรินิพพาน ให้ถึงการตรัสรู้ ที่พระสุคต
ทรงประกาศแล้ว ถึงบุคคลนี้จะกลับมาเกิดในมัชฌิมชนบท และ
เป็นผู้มีปัญญา ไม่โง่เขลา ไม่เป็นคนเซอะ สามารถรู้เนื้อความ
แห่งสุภาษิตและทุพภาษิตได้ นี้มิใช่ขณะมิใช่สมัยที่จะอยู่ประพฤติ
พรหมจรรย์ประการที่ 8
ภิกษุทั้งหลาย กาลที่มิใช่ขณะมิใช่สมัยที่จะอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ 8 ประการ
นี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ขณะและสมัยที่ควรอยู่ประพฤติพรหมจรรย์มีประการเดียวเท่านั้น
ขณะและสมัยประการเดียวนั้น เป็นอย่างไร
คือ ตถาคตเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อม
ด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม
เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค

เชิงอรรถ :
1 เป็นคนเซอะ แปลจากบาลีว่า ‘เอฬมูโค’ อรรถกถาอธิบายว่า ‘ปคฺฆริตเขฬมูโค’ แปลว่า ‘เป็นใบ้มี
น้ำลายไหล’ (องฺ.ปญฺจก.อ. 3/112/48) หมายถึงใช้ปากพูดได้แต่เป็นใบ้ พูดไม่ชัด (สํ.ม.อ. 3/225-231/
223 แต่ในอภิธานปฺปทีปิกาฏีกา อธิบายว่า หมายถึงผู้ไม่ฉลาดพูดและไม่ฉลาดฟัง และไม่ฉลาดในภาษา
ที่จะพูด (วตฺตุํ โสตุญฺจ อกุสโล, วจเน จ อกุสโล) และแยกอธิบายอีกว่า เอโฬ หมายถึง พธิโร (คนหูหนวก)
มูโค หมายถึง อวจโน (พูดไม่ได้) หรือหมายถึงคนโอ้อวด (สเฐปิ เอฬมูโค) (อภิธา.ฏีกา คาถา 734)
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ฉบับ “PALI TEXT SOCIETY” ให้ความหมายว่า Idiot (โง่ บ้า จิตทราม)
หรือ lack-wit (ขาดสติ) (The Book of the Gradual sayings, VOL. 111 PP. 106, 132)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :276 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 3.คหปติวรรค 9.อักขณสูตร
อุบัติขึ้นแล้วในโลกนี้ และแสดงธรรมที่จะนำความสงบมาให้ เป็นไปเพื่อปรินิพพาน
ให้ถึงการตรัสรู้ ที่พระสุคตทรงประกาศแล้ว และบุคคลนี้กลับมาเกิดในมัชฌิมชนบท
และเป็นผู้มีปัญญา ไม่โง่เขลา ไม่เป็นคนเซอะ สามารถรู้เนื้อความแห่งสุภาษิตและ
ทุพภาษิตได้ ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นขณะและสมัยที่จะอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ประการ
เดียวเท่านั้น
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถา
ประพันธ์ต่อไปอีกว่า
เหล่าชนผู้ได้เกิดเป็นมนุษย์แล้ว
เมื่อพระตถาคตทรงประกาศสัทธรรมดีแล้ว
ยังไม่ได้ขณะ ชื่อว่าปล่อยขณะให้ล่วงไป
ชนหมู่มากกล่าวถึงกาลที่มิใช่ขณะว่าทำอันตรายต่อมรรค
พระตถาคตทั้งหลายทรงอุบัติขึ้นในโลกเพียงบางครั้งบางคราว
สิ่งที่มาพร้อมกันที่หาได้ยากในโลก คือ
การได้กำเนิดเป็นมนุษย์และการแสดงสัทธรรม
ชนผู้ใคร่ประโยชน์ ควรพยายามในกาลดังกล่าวมานั้น
บุคคลควรเข้าใจสัทธรรม
ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย
เพราะคนผู้ล่วงเลยขณะไป
ย่อมยัดเยียดเศร้าโศกอยู่ในนรก
หากเขาปล่อยประโยชน์ให้เสียไป
ไม่บรรลุความเป็นผู้แน่นอนต่อสัทธรรมในโลกนี้ได้
จักเดือดร้อนในภายหลังสิ้นกาลนาน
เหมือนพ่อค้าผู้ปล่อยประโยชน์ให้เสียไป ฉะนั้น
คนผู้ถูกอวิชชาหุ้มห่อไว้ พรากจากสัทธรรม
จักเสวยสังสารวัฏคือชาติและมรณะสิ้นกาลนาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :277 }