เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 3.คหปติวรรค 9.อักขณสูตร
4. สติปัฏฐาน 4 เป็นธรรมที่ภิกษุขีณาสพเจริญอบรมดีแล้ว แม้ข้อที่
สติปัฏฐาน 4 เป็นธรรมที่ภิกษุขีณาสพเจริญอบรมดีแล้ว นี้ก็เป็น
กำลังของภิกษุขีณาสพที่ภิกษุขีณาสพอาศัยปฏิญญาความสิ้นอาสวะ
ทั้งหลายว่า ‘อาสวะของเราสิ้นแล้ว’
5. อิทธิบาท 4 เป็นธรรมที่ภิกษุขีณาสพเจริญอบรมดีแล้ว ฯลฯ
6. อินทรีย์ 5 เป็นธรรมที่ภิกษุขีณาสพเจริญอบรมดีแล้ว ฯลฯ
7. โพชฌงค์ 7 เป็นธรรมที่ภิกษุขีณาสพเจริญอบรมดีแล้ว ฯลฯ
8. อริยมรรคมีองค์ 8 เป็นธรรมที่ภิกษุขีณาสพเจริญอบรมดีแล้ว แม้
ข้อที่อริยมรรคมีองค์ 8 เป็นธรรมที่ภิกษุขีณาสพเจริญอบรมดีแล้ว
นี้ก็เป็นกำลังของภิกษุขีณาสพที่ภิกษุขีณาสพอาศัยปฏิญญาความ
สิ้นอาสวะทั้งหลายว่า ‘อาสวะของเราสิ้นแล้ว’
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุขีณาสพมีกำลัง 8 ประการนี้แล จึงปฏิญญา
ความสิ้นอาสวะทั้งหลายว่า ‘อาสวะของเราสิ้นแล้ว”
ทุติยพลสูตรที่ 8 จบ

9. อักขณสูตร
ว่าด้วยขณะที่ไม่สมควรอยู่ประพฤติพรหมจรรย์1
[29] ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับกล่าวว่า ‘ชาวโลกทำกิจในขณะ2
ชาวโลกทำกิจในขณะ’ แต่เขาไม่รู้ขณะหรือมิใช่ขณะเลย ภิกษุทั้งหลาย กาลที่ไม่ใช่
ขณะไม่ใช่สมัยที่จะอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ 8 ประการนี้
กาล 8 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อม
ด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึก

เชิงอรรถ :
1 ดู ที.ปา. 11/342/233-234
2 ทำกิจในขณะ หมายถึงทำกิจทั้งหลายในเมื่อมีโอกาส (องฺ.อฏฺฐก.อ.3/29/248)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :274 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 3.คหปติวรรค 9.อักขณสูตร
ได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็น
พระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค อุบัติขึ้นแล้วในโลกนี้ และแสดง
ธรรม1ที่นำความสงบมาให้ เป็นไปเพื่อปรินิพพาน2 ให้ถึงการตรัสรู้
ที่พระสุคตทรงประกาศแล้ว แต่บุคคลนี้เป็นผู้เข้าถึงนรก นี้ไม่ใช่ขณะ
ไม่ใช่สมัยที่จะอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ประการที่ 1
2. ตถาคต ฯลฯ เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็น
พระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค อุบัติขึ้นแล้วในโลก และแสดง
ธรรมที่นำความสงบมาให้ เป็นไปเพื่อปรินิพพาน ให้ถึงการตรัสรู้
ที่พระสุคตทรงประกาศแล้ว แต่บุคคลนี้เป็นผู้เข้าถึงกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน
ฯลฯ
3. ตถาคต ฯลฯ แต่บุคคลนี้เป็นผู้เข้าถึงเปรตวิสัย ฯลฯ
4. ตถาคต ฯลฯ แต่บุคคลนี้เป็นผู้เข้าถึงเทพนิกาย3ที่มีอายุยืนชั้นใด
ชั้นหนึ่งแล้ว ฯลฯ
5. ตถาคต ฯลฯ แต่บุคคลนี้เป็นผู้กลับมาเกิดในปัจจันตชนบท และอยู่
ในพวกมิลักขะที่ไม่รู้เดียงสา ที่ไม่มีภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และ
อุบาสิกาผ่านไปมา ฯลฯ
6. ตถาคต ฯลฯ แต่บุคคลนี้เป็นผู้กลับมาเกิดในมัชฌิมชนบท เป็น
มิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นวิปริตว่า ‘ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ยัญที่บูชา
แล้วไม่มีผล การเซ่นสรวงไม่มีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและชั่วก็
ไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มีคุณ บิดาไม่มีคุณ
โอปปาติกสัตว์4ไม่มี สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ทำให้
แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง
ก็ไม่มีในโลก ฯลฯ

เชิงอรรถ :
1 ธรรม ในที่นี้หมายถึงสัจจะ 4 (องฺ.อฏฺฐก.อ.3/29/248) และดู ที.ปา.11/358/269
2 ปรินิพพาน ในที่นี้หมายถึงความดับกิเลส (องฺ.อฏฺฐก.อ.3/29/248)
3 เทพนิกาย ในที่นี้หมายถึงหมู่เทพเกิดเป็นอสัญญีสัตว์ (องฺ.อฏฺฐก.อ.3/29/248)
4 โอปปาติกสัตว์ คือสัตว์ที่เกิดและเติบโตเต็มที่ทันที และเมื่อจุติ (ตาย) ก็หายวับไปไม่ทิ้งซากศพไว้ เช่นเทวดา
และสัตว์นรก เป็นต้น (ที.สี.อ. 1/171/149)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :275 }