เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 2.มหาวรรค 9.ปหาราทสูตร
7. ธรรมวินัยนี้มีรัตนะมาก มีรัตนะหลายชนิด คือ สติปัฏฐาน 4
สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7
อริยมรรคมีองค์ 8 เหมือนมหาสมุทรที่มีรัตนะมาก มีรัตนะ
หลายชนิด คือ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา
แก้วประพาฬ เงิน ทอง ทับทิม แก้วตาแมว การที่ธรรมวินัยนี้
มีรัตนะมาก มีรัตนะหลายชนิด คือ สติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4
อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 อริยมรรคมีองค์ 8 นี้
เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏประการที่ 7 ในธรรมวินัยนี้
ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้
8. ธรรมวินัยนี้เป็นที่อยู่ของผู้ใหญ่ คือ พระโสดาบัน บุคคลผู้ปฏิบัติ
เพื่อทำให้แจ้งโสดาปัตติผล พระสกทาคามี บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำ
ให้แจ้งสกทาคามิผล พระอนาคามี บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้ง
อนาคามิผล พระอรหันต์ บุคคคลผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัตตผล เหมือน
มหาสมุทรเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ขนาดใหญ่ คือ ปลาติมิติมิงคละ
ปลาติมิรมิงคละ อสูร นาค คนธรรพ์ มีลำตัว 100 โยชน์ก็มี
มีลำตัว 200 โยชน์ก็มี มีลำตัว 300 โยชน์ก็มี มีลำตัว
400 โยชน์ก็มี มีลำตัว 500 โยชน์ก็มี การที่ธรรมวินัยนี้เป็น
ที่อยู่ของผู้ใหญ่ คือ พระโสดาบัน บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้ง
โสดาปัตติผล พระสกทาคามี บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้ง
สกทาคามิผล พระอนาคามี บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้ง
อนาคามิผล พระอรหันต์ บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่ออรหัตตผล1 นี้เป็น
ธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ ประการที่ 8 ในธรรมวินัยนี้
ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้
ปหาราทะ ในธรรมวินัยนี้ มีธรรมที่น่าอัศจรรย์ ไม่เคยปรากฏ 8 ประการนี้แล
ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วต่างพากันยินดีในธรรมวินัยนี้

ปหาราทสูตรที่ 9 จบ

เชิงอรรถ :
1 ดู ที.ปา. 11/333/224, อภิ.ปุ. (แปล) 36/207/229

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :251 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต [1.ปฐมปัณณาสก์] 2.มหาวรรค 10.อุโปสถสูตร
อุโปสถสูตร1
ว่าด้วยเหตุที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงแสดงปาติโมกข์
[20] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ บุพพาราม ปราสาทของ
นางวิสาขามิคารมาตา เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคมีภิกษุสงฆ์
แวดล้อม ประทับนั่ง ในวันอุโบสถ เมื่อราตรีผ่านไป2แล้ว ปฐมยามผ่านไปแล้ว
ท่านพระอานนท์ลุกจากอาสนะ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่า ประนมมือไปทางที่พระผู้มี
พระภาคประทับอยู่ ได้กราบทูลดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีผ่านไปแล้ว ปฐมยามผ่านไปแล้ว ภิกษุสงฆ์
นั่งรออยู่นานแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคทรงโปรดยกพระปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่ภิกษุ
ทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
เมื่อท่านพระอานนท์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคทรงนิ่ง3
แม้ครั้งที่ 2 เมื่อราตรีผ่านไปแล้ว มัชฌิมยามผ่านไปแล้ว ท่านพระอานนท์
ลุกจากอาสนะ ห่มอุตตราสงค์เฉวียงบ่า ประนมมือไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่
ได้กราบทูลดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีผ่านไปแล้ว มัชฌิมยามผ่านไปแล้ว ภิกษุสงฆ์
นั่งรออยู่นานแล้ว ขอพระผู้มีพระภาคทรงโปรดยกพระปาติโมกข์ขึ้นแสดงแก่ภิกษุ
ทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
แม้ครั้งที่ 2 พระผู้มีพระภาคก็ทรงนิ่ง

เชิงอรรถ :
1 ดู วิ.จู. (แปล) 7/383-385/277-284, ขุ.อุ.25/45/163-170, อภิ.ก.37/346/188
2 ดูเชิงอรรถที่ 1 สัตตกนิบาต ข้อ 32 หน้า 49 ในเล่มนี้
3 เหตุที่ทรงนิ่ง ไม่ทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง เพราะพระองค์ทรงมุ่งอนุเคราะห์ภิกษุผู้ทุศีลที่มีอยู่ในบริษัท
หากพระองค์ทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง ศีรษะของภิกษุผู้ทุศีลนั้นก็จักแตก 7 เสี่ยง จึงทรงนิ่งเสีย (องฺ.อฏฺฐก.อ.
3/20/245)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :252 }