เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 2.อนุสยวรรค 6.อนิจจานุปัสสีสูตร
บุคคลผู้โผล่ขึ้นแล้วข้ามไปถึงฝั่ง เป็นผู้ลอยบาปอยู่บนบก เป็นอย่างไร
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้โผล่ขึ้นมาแล้ว ได้แก่มีศรัทธาดีในกุศลธรรมทั้งหลาย
มีหิริดี... มีโอตตัปปะดี... มีวิริยะดี... มีปัญญาดีในกุศลธรรมทั้งหลาย และเขาทำให้
แจ้งเจโตวิมุตติ1 ปัญญาวิมุตติ2 อันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอัน
ยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้โผล่ขึ้นแล้วข้ามไปถึงฝั่ง เป็นผู้
ลอยบาปอยู่บนบก เป็นอย่างนี้แล3
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เปรียบด้วยคนตกน้ำ 7 จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก
อุทกูปมาสูตรที่ 5 จบ

6. อนิจจานุปัสสีสูตร
ว่าด้วยบุคคลผู้พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง
[16] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล 7 จำพวกนี้ เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย
ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยม
ของโลก
บุคคล 7 จำพวกไหนบ้าง คือ
1. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง มีสัญญาว่า
ไม่เที่ยง รู้ว่าเป็นสภาวะไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวงอยู่ ตั้งใจมั่นเนืองๆ
สม่ำเสมอ ไม่ขาดระยะ มีปัญญาหยั่งรู้ เขาทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ
ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง

เชิงอรรถ :
1 เจโตวิมุตติ หมายถึงความหลุดพ้นจากกิเลสด้วยอำนาจการฝึกจิตซึ่งเป็นผลแห่งสมาธิ (องฺ.ทุก.อ. 2/88/
62)
2 ปัญญาวิมุตติ หมายถึงความหลุดพ้นจากกิเลสด้วยการกำจัดอวิชชาได้ซึ่งเป็นผลแห่งปัญญา (องฺ.ทุก.อ.
2/88/62)
3 คำว่า “โผล่ขึ้น” ในสูตรนี้ หมายถึงมีศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ และปัญญา บุคคลจำพวกที่ 7 นี้
หมายถึงผู้ข้ามโอฆะคือกิเลสทั้งปวงได้ ดำรงตนอยู่บนบกคือนิพพาน (องฺ.สตฺตก.อ. 3/15/163)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :24 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 2.อนุสยวรรค 6.อนิจจานุปัสสีสูตร
เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นบุคคลจำพวกที่ 1 ผู้ควร
แก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควร
แก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
2. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง มีสัญญาว่า
ไม่เที่ยง รู้ว่าเป็นสภาวะไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวงอยู่ ตั้งใจมั่นเนืองๆ
สม่ำเสมอ ไม่ขาดระยะ มีปัญญาหยั่งรู้ เขามีปัญญาหยั่งรู้ความสิ้น
อาสวะและความสิ้นชีวิต ไม่ก่อนไม่หลังกัน ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็น
บุคคลจำพวกที่ 2 ผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของต้อนรับ
ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
3. บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง มีสัญญาว่า
ไม่เที่ยง รู้ว่าเป็นสภาวะไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวงอยู่ ตั้งใจมั่นเนืองๆ
สม่ำเสมอ ไม่ขาดระยะ มีปัญญาหยั่งรู้ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ
5 ประการสิ้นไป เขาจึงเป็นอันตราปรินิพพายี1 ภิกษุทั้งหลาย
นี้เป็นบุคคลจำพวกที่ 3 ผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่ของ
ต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญอันยอด
เยี่ยมของโลก

เชิงอรรถ :
1 อันตราปรินิพพายี หมายถึงพระอนาคามีผู้ปรินิพพานในระหว่าง คือเกิดในสุทธาวาสภพใดภพหนึ่งแล้ว
อายุยังไม่ถึงกึ่งของอายุผู้เกิดในชั้นสุทธาวาสก็ปรินิพพานเสียในระหว่าง แต่ละชั้นมี 3 จำพวก เช่นในชั้น
อวิหามีอายุ 1,000 กัป มี 3 จำพวก ดังนี้ คือ
พวกที่ 1 บรรลุพระอรหัตตผลในวันที่เกิด ถ้าไม่บรรลุในวันที่เกิดได้ก็บรรลุไม่เกินภายใน 100 กัป
พวกที่ 2 เมื่อไม่สามารถบรรลุพระอรหัตตผลในวันที่เกิดหรือบรรลุภายใน 100 กัปได้ ก็บรรลุภายใน
200 กัป
พวกที่ 3 เมื่อไม่สามารถบรรลุพระอรหัตตผลภายใน 200 กัปได้ ก็บรรลุไม่เกินภายใน 400 กัป
ส่วนในสุทธาวาสชั้นอื่น ๆ คือ ชั้นอตัปปาที่มีอายุ 2,000 กัป ชั้นสุทัสสาที่มีอายุ 4,000 กัป ชั้นสุทัสสี
ที่มีอายุ 8,000 กัป ชั้นอกนิฏฐาที่มีอายุ 16,000 กัป ก็มีนัยเช่นเดียวกันนี้ (องฺ.ติก.อ.2/88/243) และ
ดู อภิ.วิ. (แปล) 35/1027/673-674 ประกอบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :25 }